ธปท.เผยความคืบหน้าจัดตั้งกลไกใช้สกุลเงินท้องถิ่นทำธุรกรรมไทย-มาเลเซีย ตั้งเป้าหมายที่จะให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มให้บริการแก่ลูกค้าได้ช่วงสิ้นไตรมาสแรกปีหน้า คาดช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ลดความเสี่ยงจากความผันผวนเงินสกุลหลัก และหนุนธุรกิจนำเข้าส่งออกกับประเทศเพื่อนบ้าน
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับความร่วมมือในการจัดตั้งกลไกการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น เพื่อการชำระธุรกรรมการค้าการลงทุนระหว่างไทย และมาเลเซีย ว่า หลังจากที่ผู้ว่าการ ธปท. และธนาคารกลางมาเลเซีย ได้ลงนามร่วมกันในบันทึกความตกลงเพื่อจัดตั้งกลไกความร่วมมือดังกล่าวเมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา
ขณะนี้ ธนาคารกลางทั้ง 2 ประเทศได้เจรจากันจนได้ข้อสรุปในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่อการจัดตั้งกลไก ซึ่งรวมไปถึงการผ่อนปรนระเบียบการควบคุมแลกเปลี่ยนเงินบางประการให้ธนาคารพาณิชย์ที่จะทำหน้าที่ให้บริการในเงินสกุลริงกิต และบาท เพื่อให้สามารถให้บริการให้แก่ลูกค้าได้คล่องตัวมากขึ้น โดยธนาคารพาณิชย์เหล่านี้จะต้องดำเนินการทำธุรกรรมตามขอบเขตการดำเนินการที่ได้ตกลงไว้ รวมทั้งส่งรายงานการทำธุรกรรมให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศ และจะต้องประกาศอัตราแลกเปลี่ยนริงกิต-บาทโดยตรงด้วย
อย่างไรก็ดี เพื่อให้การดำเนินการตามกลไกนี้มีความคล่องตัว สามารถติดตามผลสำเร็จได้อย่างใกล้ชิด ในระยะแรกธนาคารกลางของทั้ง 2 ประเทศจึงจะร่วมกันคัดเลือกธนาคารพาณิชย์จำนวนหนึ่งเพื่อนำร่องทำหน้าที่ให้บริการ โดยจะเลือกจากธนาคารพาณิชย์ที่มีความพร้อม และมีศักยภาพในการให้บริการลูกค้าในทั้ง 2 ประเทศ อันได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ที่ในปัจจุบันมีการทำธุรกรรมสกุลริงกิต/บาทกับลูกค้าในลำดับสูง มีฐานลูกค้าที่เป็นผู้ส่งออก และผู้นำเข้ากว้างขวาง มีการดำเนินการ หรือมีเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในไทย และมาเลเซีย
นางจันทวรรณ กล่าวว่า ธปท.ตั้งเป้าหมายที่จะให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มให้บริการการตามกลไกนี้แก่ลูกค้าได้ในช่วงสิ้นไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นนี้ จะเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ส่งออกนำเข้าที่ค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลักสามารถใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการซื้อขายระหว่างกัน ช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากเงินสกุลในภูมิภาคมีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมากกว่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก