xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนมองหุ้นฟื้น Q3/58

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 นายพงศ์พิเชษฐ์ นานานุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ. กสิกรไทย)
ASTV ผู้จัดการรายวัน - “บลจ. กสิกรไทย” มองอีก 6 เดือนข้างหน้า หุ้นกลุ่มธุรกิจก่อสร้างจะกลับมา หลังรัฐบาลเร่งอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในหลายโครงการ ด้าน “บลจ.ธนชาต” ชี้ ภาคส่งออกจะไม่ได้รับอานิสงส์จากค่าบาทอ่อน เหตุยังมีปัญหาเชิงโครงการอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

พงศ์พิเชษฐ์ นานานุกูล กรรมการผู้จัดการหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กสิกรไทย กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาหัวข้อ “กองทุนมองหุ้นไทยจะย่อหรือจะไปไตรมาส 3” โดยเขาเชื่อว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า หุ้นของกลุ่มบริษัทก่อสร้างจะกลับมาอย่างแน่นอนตามการลงทุนโครงการขนาดใหญ่จากภาครัฐ ขณะที่ภัยแล้งในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรที่จะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ปริมาณสินค้าเกษตรในตลาดโลก เช่น ยางพารา ก็เริ่มปรับตัวลงมาแล้วด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ธุรกิจในหมวดสินค้าเกษตรและอาหารน่าจะมีโอกาสที่จะทำผลกำไรได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ธุรกิจผู้ค้าสินค้าอุปโภคและบริโภครายย่อยที่เคยได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อในประเทศที่ลดลงช่วงก่อนหน้าก็น่าจะมีกำลังซื้อกลับเข้ามาบ้างในช่วงไตรมาสของปี 2558 หลังจากเริ่มมีการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร และจากการกำหนดราคาซื้อขายสินค้าเกษตรรอบใหม่
บุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าบริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ธนชาติ จำกัด
ขณะที่ด้าน บุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าบริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ธนชาต จำกัด ให้ความเห็นว่า ตัวเขาเองนั้นยังคงมีความหวังต่อเศรษฐกิจไทย และตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่านี้แล้ว

โดยจะเห็นได้จากในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการลงทุนไปแล้วในหลายโครงการ แต่ความหวังที่ว่าจะสามารถผลักดันให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงานตามแผนของหน่วยงานเจ้าของโครงการ และการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เนื่องจากในปัจจุบันการลงทุนถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก

ในภาคการท่องเที่ยวที่เคยมีบทบาทอย่างมากในการผลักการเติบโตในรายได้ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 ของปีนี้ คาดว่า ยังจะมีบทบาทในฐานะที่เคยเป็นแรงเสริมที่ยังคงมีความสำคัญต่อการผลักดันให้ GDP ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 ก็น่าจะยังดีอยู่ เนื่องจากประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ขณะที่สถานการณ์การระบาดของโรคเมอร์สในไทยนั้นไม่น่าจะร้ายแรง และภาครัฐน่าจะควบคุมได้

ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงจากนโยบายการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงที่ผ่านมา เขามองว่า คงไม่ได้ช่วยอะไรให้กับภาคการส่งออกมากนัก แม้ค่าบาทจะอ่อนตัวลงมาถึง 2.1% แต่ก็ยังไม่ได้ถือว่าอ่อนสุด เมื่อเทียบกับการอ่อนตัวของค่าเงินรูเปียะห์ของอินโดนีเซียที่ลงมาถึง 6.9% และค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย 5.7% อีกทั้งปัญหาที่แท้จริงของการส่งออกยังเกิดจากปัญหาในเชิงโครงสร้างแบบเดิมๆ มากกว่าที่จะมีปัญหาที่มาจากค่าเงินบาทที่แข่งขันได้หรือไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น