สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ไปงาน SET-TFEX Digital Investor ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งได้พบกับนักลงทุนรุ่นใหม่มากมายสนใจการลงทุน สัมมนาทุกหัวข้อก็ที่นั่งเต็มตลอด เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่านักลงทุนสมัยนี้ขยัน และแสวงหาข้อมูล ความรู้ และเครื่องมือเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา และเชื่อว่านักลงทุนหลายคนเริ่มเรียนรู้ที่จะกลายเป็นนักลงทุนที่ยั่งยืนในตลาดทุนไทยได้ดี
ในบรรดาสินค้าเกี่ยวกับการลงทุน คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับหุ้นเป็นหลัก รองมาก็น่าจะเป็นกองทุน เพราะกองทุนเราสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย ทำให้คนที่มีรายได้แล้วต้องเสียภาษีส่วนบุคคลก็น่าจะมีการลงทุนในกองทุนประเภท LTF RMF บ้าง แต่สินค้าที่ได้รับความสนใจไม่น้อยเช่นกันก็คือ TFEX หรือตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้า ซึ่งตอนนี้ก็มีสินค้าประเภท Futures และ Options
ทำไมนักลงทุนรุ่นใหม่เขาถึงสนใจ TFEX
1.TFEX มีหลายสินค้าอ้างอิง เช่น ดัชนีเซ็ท 50, หุ้นรายตัว 60 ตัว, ทองคำ, น้ำมันดิบเบรนท์, อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ และ ฯลฯ ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนมาก บางช่วงตลาดหุ้นดี บางช่วงสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ อาจจะดี เหมือน 5-7 ปีก่อน ทองคำจะเป็นพระเอก เมื่อ 8-9 ปีก่อนน้ำมันก็เป็นพระเอก ซึ่งสินค้าอ้างอิงแต่ละตัวในตลาด TFEX หลายตัวก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัย ทำให้เราสามารถนำมาใช้จัดพอร์ตกระจายสินทรัพย์ในการลงทุนได้เช่นกัน
2.TFEX ใช้ได้กับทุกสถาวะตลาด ถ้าเป็นตลาดขาขึ้น เราก็เปิด Long Futures หรือ Long Call Option ถ้าเป็นขาลงเราก็ Short Futures หรือ Long Put Option แต่ถ้าเป็นตลาด Sideway ก็ใช้ Short Options ในการหากำไรได้เช่นกัน
3.TFEX มี Leverage หรืออัตราทด ความหมายก็คือ TFEX ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิงโดยตรง เจ้าตัวอัตราทดนี่แหละเป็นตัวที่ทำให้หลายคนสนใจ TFEX เพราะเวลากำไรก็ได้เยอะ แต่ต้องยอมรับว่า เวลาขาดทุนก็ขาดทุนเยอะถ้ามองผิดทาง เจ้า Leverage ถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการตัดสินว่าใครจะอยู่ในตลาดได้ยั่งยืนหรือไม่ คนที่ประสบความสำเร็จในตลาดฟิวเจอร์สแบบยั่งยืน (ขอเน้นว่าแบบยั่งยืน ไม่นับพวกรวยเร็วในไม่กี่เดือนกี่สัปดาห์นะครับ) จะเป็นพวกที่รู้จักการบริหารอัตราทดไม่ใช้จนเกินตัว เพราะการใช้อัตราทดสูงๆ เวลาคาดการณ์ผิดจะสร้างความเสียหายได้ไว ซึ่งพอขาดทุนแล้วการจะทำกลับมามันจะยากขึ้น เว้นแต่ถ้าเราปรับอัตราทดให้เหมาะสมต่อพอร์ต และสินค้าก็จะเพิ่มประสิทธิภาพของการสร้างผลตอบแทนจากเงินทุนจำกัดที่เรามีได้มาก การใช้อัตราทดที่สูงเกินไปจะสร้างความเสี่ยงมหาศาลจนทำให้พอร์ตระเบิดขาดทุนเละเทะได้เช่นกัน
4.TFEX ใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารพอร์ต ป้องกันความเสี่ยงได้ สร้างกลยุทธ์ได้หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนบางคนไม่สามารถอ่านเทรนด์ตลาดออก แต่รู้จักหุ้นบางตัวดี ก็อาจใช้กลยุทธ์ Pair Trade โดยการเปิดสถานะ Long สินค้าที่น่าจะโดดเด่น และ Short สินค้าที่น่าจะแย่ โดยทำพร้อมๆ กันและมูลค่าเท่าๆ กัน (อ่านได้ในคอลัมน์เมื่อวันที่ 20-22 มิถุนายน 2558) นอกจากนี้ นักลงทุนที่อาจมีความเสี่ยงจากขาขึ้น หรือขาลงของราคาสินค้าอ้างอิง ก็สามารถป้องกันความเสี่ยงได้เช่นกัน เช่น ผู้ส่งออกห่วงว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะมีความผันผวน และถ้าดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในอนาคตเมื่อเทียบกับเงินบาท สินค้าที่จะส่งออกตกลงทำสัญญาขายไว้ที่มูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ตอนอัตราแลกเปลี่ยนที่เหรียญละ 34 บาทต่อดอลลาร์ แต่กว่าลูกค้าจะชำระเงินมานั้นอีก 3 เดือน ถ้าถึงตอนที่ได้เงินดอลลาร์มาเกิดค่าเงินบาทแข็งค่าจาก 34 บาท ไปเป็น 32 บาทต่อดอลลาร์ แม้จะได้ค่าสินค้า 1 ล้านเหรียญเท่าเดิม แต่เทียบเป็นเงินไทยน้อยลงไปถึง 2 ล้านบาททีเดียว ซึ่งผู้ส่งออกท่านนี้ก็สามารถป้องกันความเสี่ยงโดย Short USD Futures เพื่อเป็นการ Hedge ป้องกันความเสี่ยงของค่าเงินได้เลยทันที
5.TFEX เป็นเพียงหนึ่งเครื่องมือทางการเงิน เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจข้อดีข้อเสียของมัน ทุกอย่างอยู่ที่เราออกแบบการใช้งานให้เหมาะสมต่อความต้องการของเราได้ นักลงทุนรุ่นใหม่จึงนิยมศึกษาสินค้าตัวนี้เพื่อนำไปใช้ในการสร้างกลยุทธ์การลงทุนให้ใช้งานได้ดีมากยิ่งขึ้น
สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช
ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก