xs
xsm
sm
md
lg

การเคหะฯ เสนอ ครม. อนุมัติแผนแม่บทพัฒนาแฟลตดินแดง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การเคหะฯ เตรียมเสนอ ครม. อนุมัติแผนแม่บทฟื้นฟูเมืองดินแดง 2558 พัฒนาอาคารสูง 25-35 ชั้น รวม 36 อาคาร จำนวน 20,292 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม-ใหม่ หลังเดินหน้าบูรณาการรอบด้าน แจงขั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมตั้ง “พล.อ.สุชาติ หนองบัว” นั่งเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาเมืองชุมชนดินแดง ด้าน พม.สั่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการดินแดงเผยแพร่แนวทางการดำเนินงาน

นายกฤษดา รักษากุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า ได้จัดทำแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง พ.ศ.2558 เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาเมือง จัดสร้างที่อยู่อาศัยใหม่รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม และผู้อยู่อาศัยกลุ่มใหม่ เพิ่มแหล่งงานในชุมชน รวมทั้งพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม ซึ่งหลังจากพัฒนาโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงแล้วเสร็จจะสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมได้ทั้งสิ้น 6,546 หน่วย และที่พักอาศัย เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ได้ 13,746 หน่วย รวมหน่วยที่พักอาศัยจากการพัฒนาโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงทั้งสิ้น 20,292 หน่วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการการเคหะฯ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนบรรลุวัตถุประสงค์ โดยได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาเมืองชุมชนดินแดง เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 โดยมี พล.อ.สุชาติ หนองบัว เป็นประธานกรรมการ ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มอบนโยบายให้การเคหะฯ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการดินแดง ในพื้นที่เคหะชุมชนดินแดง 1 บริเวณชั้นล่าง อาคารแฟลต 5 เพื่อเป็นสถานที่เผยแพร่บริการข้อมูลการดำเนินโครงการฟื้นฟูชุมชนเมืองดินแดง ให้ชุมชนรับทราบ และเข้าใจในทิศทางที่ถูกต้อง

“คาดว่าจะเปิดทำการประมาณเดือนกรกฎาคม 2558 พร้อมทั้งแต่งตั้ง นายดารนัย อินสว่าง ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็น CEO โดยเฉพาะ เพื่อกำกับดูแลการดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง และให้ดำเนินการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) เพื่อเผยแพร่แนวทางการดำเนินงานและผลการดำเนินงานให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ และเข้าใจ พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติต่อไป”

สำหรับรูปแบบของอาคารที่การเคหะแห่งชาติจะดำเนินการพัฒนารวมทั้งสิ้น 36 อาคาร แบ่งเป็นอาคารเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม จัดสร้างในลักษณะอาคารสูง 25-35 ชั้น จำนวน 11 อาคาร และเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่จัดสร้างเป็นอาคารสูง 8-35 ชั้น จำนวน 25 อาคาร พร้อมทั้งจัดพื้นที่ประกอบการค้าเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้มีสถานที่ประกอบอาชีพ รวมทั้งพื้นที่จอดรถในจำนวนที่พอเพียงตามเกณฑ์ที่กำหนด

ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติ กำหนดแผนดำเนินการก่อสร้างอาคารหลังแรกบริเวณที่ตั้งสำนักงานเคหะชุมชนดินแดง 1 (หัวมุมถนนดินแดงตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต) ในรูปแบบอาคารสูง 25 ชั้น จำนวน 334 หน่วย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจึงจะเริ่มย้ายผู้อยู่อาศัยเดิม คือ แฟลต 18-20 และ 21-22 รวมจำนวน 5 อาคาร 280 หน่วย เพื่อให้เข้าอยู่อาศัยในอาคารใหม่ หลังจากย้ายผู้อยู่อาศัยเดิมกลุ่มนี้แล้วเสร็จ การเคหะแห่งชาติจึงจะทยอยสร้าง และย้ายผู้อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยแผนการรื้อย้ายจะดำเนินการทั้งสิ้น 4 ระยะ ใช้เวลาดำเนินการ 8 ปี

เมื่อการเคหะแห่งชาติ ดำเนินการพัฒนาโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงแล้วเสร็จ นอกจากจะได้รับประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจภายในชุมชนที่ดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้สังคม และสภาพแวดล้อมของผู้อยู่อาศัยในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังเสริมสร้างบริบทเมือง และส่งเสริมแผนพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ และของประเทศด้วย

นายกฤษดา กล่าวว่า สำหรับภารกิจด้านการพัฒนาเมือง “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง” ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย กายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ โครงการเคหะชุมชนดินแดง เป็นอาคารแฟลตที่เริ่มสร้างในปี 2506 โดยกรมประชาสงเคราะห์ มีลักษณะเป็นอาคารพักอาศัยประเภทเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย จำนวน 64 อาคาร หน่วยพักอาศัยทั้งสิ้น 4,144 หน่วย ต่อมา ในปี 2516 กรมประชาสงเคราะห์ ได้โอนแฟลตดินแดงให้มาอยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติ หลังจากนั้น การเคหะแห่งชาติได้จึงก่อสร้างอาคารพักอาศัยเพิ่มอีก 32 อาคาร 5,098 หน่วย รวมเป็นที่พักอาศัยในเคหะชุมชนดินแดงทั้งสิ้น 9,242 หน่วย

ปัจจุบัน อาคารแฟลตดินแดงชุดแรกมีอายุกว่า 50 ปี สภาพอาคารมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการซ่อมแซมอาคารแฟลตดินแดงมาโดยตลอด แต่สามารถบรรเทาในจุดที่พบความเสียหายเท่านั้น จึงมีแนวคิดที่จะดำเนินการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โดยได้รับความเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ และฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงครั้งแรกเมื่อปี 2543 และได้ดำเนินการปรับปรุงแผนแม่บทดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญด้านสังคม และการมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยงาน ภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม การเคหะฯ ยังให้ความสำคัญดำเนินงานตามกระบวนการด้านการมีส่วนร่วมมาโดยตลอด พร้อมทั้งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรมธนารักษ์ กรุงเทพฯ เป็นต้น



กำลังโหลดความคิดเห็น