กคช. เผยพัฒนาที่อยู่อาศัยนับแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันกว่า 709,000 หน่วย พร้อมเดินหน้าตามนโยบายเจ้ากระทรวง พม.ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เปิดโอกาสในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัยจากรัฐอย่างเท่าเทียม ทั้งโครงการบ้านยั่งยืน และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ยันจะไม่มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์แทนแฟลตดินแดงแน่นอน พร้อมเสนอแผนแม่บทให้ ครม.พิจารณา ก่อนเดินหน้าต้นปี 59
นายกฤษดา รักษากุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติ ได้ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย และปานกลาง จนถึงปัจจุบัน (ณ เดือนมิถุนายน 2558) รวมทั้งสิ้น 709,512 หน่วย ประกอบด้วย โครงการเคหะชุมชน 142,103 หน่วย โครงการบ้านเอื้ออาทร 275,881 หน่วย โครงการเคหะข้าราชการ 50,107 หน่วย โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด 233,964 หน่วย โครงการพิเศษและบริการชุมชน 3,980 หน่วย โครงการที่พักอาศัยสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 2,374 หน่วย และโครงการผู้ประสบภัยภาคใต้ 845 หน่วย
นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติยังได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้จัดทำ โครงการบ้านยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาส และความเสมอภาคในการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอย่างเท่าเทียมกัน โดยการเคหะแห่งชาติได้รวบรวมอาคารที่ก่อสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่ ทั้งที่เป็นโครงการเคหะชุมชน และโครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวน 239 โครงการ 13,396 หน่วย ในลักษณะอาคารชุด และบ้านพร้อมอยู่ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาค สำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั่วไป รวมถึงข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจำแนกตามพื้นที่ และรายได้ครัวเรือนไม่เกิน 40,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ จะเปิดให้จองโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.-6 ก.ย.58 ณ สำนักงานใหญ่ กคช.และสำนักงานขายที่มีโครงการบ้านยั่งยืนทุกพื้นที่ ราคาขายเริ่มต้นที่ 230,000-670,000 บาท วางเงินจองเพียง 1,000 บาท อัตราการผ่อนชำระ 1,500 บาทต่อเดือน โดยการเคหะแห่งชาติจะจัดหาสถาบันการเงินเพื่อให้สินเชื่อแก่ลูกค้าในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
สำหรับโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง เป็นอีกภารกิจหนึ่งด้านการพัฒนาเมืองของการเคหะแห่งชาติ ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย กายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ โครงการเคหะชุมชนดินแดง เป็นอาคารแฟลตที่เริ่มสร้างในปี 2506 โดยกรมประชาสงเคราะห์ มีลักษณะเป็นอาคารพักอาศัยประเภทเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย จำนวน 64 อาคาร หน่วยพักอาศัยทั้งสิ้น 4,144 หน่วย ต่อมา ในปี 2516 กรมประชาสงเคราะห์ได้โอนแฟลตดินแดงให้มาอยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติ หลังจากนั้น การเคหะแห่งชาติจึงได้ก่อสร้างอาคารพักอาศัยเพิ่มอีก 30 อาคาร 5,098 หน่วย รวมเป็นที่พักอาศัยในเคหะชุมชนดินแดงทั้งสิ้น 9,242 หน่วย
ปัจจุบัน อาคารแฟลตดินแดงชุดแรกมีอายุกว่า 50 ปี สภาพอาคารมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการซ่อมแซมอาคารแฟลตดินแดงมาโดยตลอด แต่สามารถบรรเทาในจุดที่พบความเสียหายเท่านั้น การเคหะแห่งชาติ จึงมีแนวคิดที่จะดำเนินการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โดยได้รับความเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่และฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงครั้งแรก เมื่อปี 2543 และได้ดำเนินการปรับปรุงแผนแม่บทดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญด้านสังคม และการมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยงาน ภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง
“การเคหะแห่งชาติได้จัดทำแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง พ.ศ.2558 เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาเมือง จัดสร้างที่อยู่อาศัยใหม่รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม และผู้อยู่อาศัย กลุ่มใหม่ เพิ่มแหล่งงานในชุมชน รวมทั้งพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม ซึ่งหลังจากพัฒนาโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงแล้วเสร็จ จะสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมได้ทั้งสิ้น 6,546 หน่วย และที่พักอาศัย เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ได้ 13,746 หน่วย รวมหน่วยพักอาศัยจากการพัฒนาโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงทั้งสิ้น 20,292 หน่วย"
อย่างไรก็ตาม การเคหะแห่งชาติยังให้ความสำคัญดำเนินงานตามกระบวนการด้านการมีส่วนร่วมมาโดยตลอด พร้อมทั้งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรมธนารักษ์ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
นอกจากนี้ คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ให้สามารถขับเคลื่อนบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย โดยได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาเมืองชุมชนดินแดง เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 โดยมี พล.อ.สุชาติ หนองบัว เป็นประธานกรรมการ ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มอบนโยบายให้การเคหะแห่งชาติจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการดินแดง ในพื้นที่เคหะชุมชนดินแดง 1 บริเวณชั้นล่าง อาคารแฟลต 5 เพื่อเป็นสถานที่เผยแพร่บริการข้อมูลข่าวสารการดำเนินโครงการฟื้นฟูชุมชนเมืองดินแดง ให้ชาวชุมชนได้รับทราบ และเข้าใจไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะเปิดทำการภายในเดือนกรกฎาคม 2558 พร้อมทั้งแต่งตั้ง นายดารนัย อินสว่าง ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็น CEO โดยเฉพาะ เพื่อกำกับดูแลการดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง และให้ดำเนินการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) เพื่อเผยแพร่แนวทางการดำเนินงาน และผลการดำเนินงานให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ และเข้าใจ พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติต่อไป
“ยืนยันว่าจะไม่เอาไปทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า หรือว่าให้เอกชนเช่าเพื่อหาผลประโยชน์โดยเด็ดขาด แต่ว่าจะก่อสร้างตึกใหม่ให้เสร็จ และทุบตึกเดิมเพื่อลดผลกระทบของชาวบ้านในพื้นที่ อีกทั้งจะให้สิทธิกับผู้อยู่อาศัยเดิมทั้ง 4,000 ครอบครัวได้อยู่อาศัย”
สำหรับรูปแบบของอาคารที่การเคหะแห่งชาติจะดำเนินการพัฒนารวมทั้งสิ้น 36 อาคาร แบ่งเป็นอาคารเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม จัดสร้างในลักษณะอาคารสูง 25-35 ชั้น จำนวน 11 อาคาร และเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่จัดสร้างเป็นอาคารสูง 8-35 ชั้น จำนวน 25 อาคาร พร้อมทั้งจัดพื้นที่ประกอบการค้าเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้มีสถานที่ประกอบอาชีพ รวมทั้งพื้นที่จอดรถในจำนวนที่พอเพียงตามเกณฑ์ที่กำหนด
ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติกำหนดแผนดำเนินการก่อสร้างอาคารหลังแรกบริเวณที่ตั้งสำนักงานเคหะชุมชนดินแดง 1 (หัวมุมถนนดินแดงตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต) ในรูปแบบอาคารสูง 25 ชั้น จำนวน 334 หน่วย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจึงจะเริ่มย้ายผู้อยู่อาศัยเดิม คือ แฟลต 18-20 และ 21-22 รวมจำนวน 5 อาคาร 280 หน่วย เพื่อให้เข้าอยู่อาศัยในอาคารใหม่ หลังจากย้ายผู้อยู่อาศัยเดิมกลุ่มนี้แล้วเสร็จ การเคหะแห่งชาติจึงจะทยอยสร้าง และย้ายผู้อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยแผนการรื้อย้ายจะดำเนินการทั้งสิ้น 4 ระยะ ใช้เวลาดำเนินการ 8 ปี ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อเห็นชอบ และจะดำเนินการภายในต้นปี 2559
เมื่อการเคหะแห่งชาติดำเนินการพัฒนาโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงแล้วเสร็จ นอกจากจะได้รับประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจภายในชุมชนที่ดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้สังคม และสภาพแวดล้อมของผู้อยู่อาศัยในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังเสริมสร้างบริบทเมือง และส่งเสริมแผนพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานคร และของประเทศอีกด้วย