xs
xsm
sm
md
lg

พลิกแตกไลน์ธุรกิจ มุ่งสร้างรายได้ถาวร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผลจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.58 มีมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ส่งผลต่อตลาดเงิน และตลาดทุนหลายเรื่อง ที่เห็นได้ชัดคือ ค่าเงินบาทเริ่ม “ทรงตัว” หลังจากที่อ่อนค่าลงไปจนแตะระดับอ่อนสุดที่ 33.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 8 เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับอ่อนสุดเดิมเมื่อปี 2552 หรือในช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพรม์

    ประเด็นถัดมาคือ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือ yield ที่มีอายุ 10 ปีขยับขึ้นมาที่ 3.06% จากล่าสุดเมื่อ 11 มิ.ย. 2558 จากที่เคยลงไปในระดับต่ำสุดที่ 2.68% เมื่อ 31 มี.ค.2558 สถานการณ์นี้อาจจะไม่ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ เพราะหมายถึงต้นทุนการเงินเริ่มขยับขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบทางด้าน sentiment บ้าง

    ดังนั้น การใช้เงิน 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,500 ล้านบาทเข้าซื้อกิจการ ‘DEAN&DELUCA’ (ดีน แอนด์ เดลูก้า) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มกูร์เมต์ชั้นนำซึ่งมีต้นกำเนิดในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2557 ถือเป็นการตัดสินใจปรับทิศทางธุรกิจครั้งสำคัญของ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ PACE จากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในระดับไฮเอนด์ เข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มอย่างเต็มตัว
1.นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PACE (ขวา)
2.Mr.Jiro Nakai ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาด D&D Japan (ซ้าย)

นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PACE เล็งเห็นว่า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มระดับพรีเมียมเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง โดยในปี 2558 คาดว่า ‘DEAN&DELUCA’ : D&D จะเติบโต 7-10% และมีมาร์จิ้นประมาณ 15-18% ทำให้คาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 2-3 ปี และหากบริษัทขยายสาขาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 500 สาขา จะทำให้รายได้จาก D&D แซงหน้าธุรกิจอสังหาฯ ภายในปี 2561 ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี เพราะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง ก็จะทำให้บริษัทมีรายได้เข้ามาประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

        CEO PACE ตัดสินใจนำยอด “รอรับรู้รายได้” จาก backlog อสังหสาริมทรัพย์มูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนขยายสาขา D&D อย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ช่วยเสริมให้บริษัทมีการรับรู้รายได้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง โดย PACE มีแผนจะขยายสาขาทั่วโลก ทั้งที่บริษัทลงทุนเอง และการขายใบอนุญาต (ไลเซนส์) ให้ได้ 300-500 สาขา ภายใน 3-5 ปี และในระยะยาวจะขยายให้ได้ 1,500-3,000 สาขาทั่วโลก จากปัจจุบันที่มีอยู่ 44 สาขาทั่วโลก ก่อนจะนำกิจการ D&D เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ภายใน 3 ปี หรือในปี 2561 เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเพราะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง มีฐานลูกค้าที่แน่นอนและเป็นกลุ่มที่พร้อมจะขยายตัวได้อย่างสม่ำเสมอ

“การลงทุนในธุรกิจอาหารนี้เป็นการบริหารธุรกิจให้บริษัทมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้เวลาทั้งเวลาในการก่อสร้างจนเสร็จ กว่าจะขาย และรับรู้รายได้บริษัทที่ทำธุรกิจอสังหาฯ หลายแห่งจึงทำธุรกิจอื่นไปด้วย เราได้เห็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว และขณะเดียวกัน โมเดลของธุรกิจกูร์เมต์&ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้เรามั่นใจที่จะขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ารายได้ที่ 3.3 พันล้านบาท ในปลายปี 2558 และในระยะยาวคาดว่า D&D จะเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้หลักของบริษัทฯ ที่มีมูลค่าแซงหน้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” นายสรพจน์ กล่าว

ปัจจุบัน D&D มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจใน 2 รูปแบบ คือ 1) รายได้จากการลงทุนของบริษัทเองในสหรัฐอเมริกา และประเทศไทย และ 2) รายได้จากการจำหน่ายสิทธิการใช้แบรนด์ D&D ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ คูเวต และฟิลิปปินส์ ซึ่งแนวทางการขยายสาขาของ PACE จะเน้นในรูปแบบ ‘สเปเชียลตี คาเฟ่’ ในย่านธุรกิจ หรือท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ขยายได้ง่าย และรวดเร็ว ใช้งบประมาณลงทุนไม่สูงมากแต่ให้ผลตอบแทนสูง โดยเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีความชื่นชอบในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ

การสร้างธุรกิจให้เติบโตด้วย ‘การแตกไลน์’ กลายเป็นกลยุทธ์ที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำมาพัฒนาโครงสร้างองค์กร โครงสร้างผลิตภัณฑ์กันอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการสามารถที่จะสร้างสินค้า และบริการใหม่ๆ ขึ้นมารองรับลูกค้ากลุ่มใหม่ ถือเป็นการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ สร้างรายได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงให้ธุรกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น