xs
xsm
sm
md
lg

“ลีซ อิท” แจงผู้ถือหุ้นและนักลงทุนเหตุที่ “เอสวีโอเอ” ขายหุ้นบิ๊กล็อตเพื่อจัดโครงสร้างการเงิน-ขยายธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ลีซ อิท” แจงผู้ถือหุ้น และนักลงทุนเหตุที่ “เอสวีโอเอ” ต้องขายบิ๊กล็อตกว่า 10 ล้านหุ้น เพื่อจัดโครงสร้างทางการเงินของบริษัทแม่ เพราะต้องรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุนเหมือนกับกิจการที่ซื้อมาขายไปทั่วไปไม่ให้เกิน 2-3:1 ซึ่งจะทำให้ LIT ดำเนินธุรกิจได้อย่างอิสระ และสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตได้อีกหลายเท่าตัว “สมพล เอกธีรจิตต์” ระบุ SVOA แจ้งว่าไม่เคยคิดตีจากแม้แต่น้อย ยืนยันจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกนาน จากนี้เดินหน้าปล่อยกู้สินเชื่อเอสเอ็มอีเต็มเหนี่ยว พอร์ตสินเชื่อทะลุ 1,000 ล้านบาท ภายในปี 58 รายได้-กำไรเติบโตปีละ 30% ตามแผน

นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) หรือ LIT เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากบริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) (SVOA) ถึงสาเหตุที่ทำให้ SVOA ขาย Big lot หุ้น LIT ออกมาจำนวนกว่า 10 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา คือ เพื่อจัดโครงสร้างทางการเงิน จะได้ไม่ต้องเอางบการเงินของ LIT มาทำงบรวม (Consolidate) เข้ากับงบการเงินของ SVOA ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำแนะนำของผู้สอบบัญชี (Auditor) เนื่องจากปีนี้ (2558) มีการใช้มาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่เรื่องการทำงบรวมการมีอิทธิพลของบริษัทแม่ และที่ประชุมกรรมการของ SVOA ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ก็มีมติตามคำแนะนำนั้น โดยได้ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่องมาตลอด

“ที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การลดสัดส่วนเหลือ 47% หรือการลาออกจากการเป็นกรรมการของ คุณแจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งการลดสัดส่วนการถือหุ้นในครั้งนี้จาก 47% เหลือ 39.50% ก็จะเพียงพอที่บริษัทแม่ไม่มีอำนาจควบคุมอีกต่อไป บนความเห็นของผู้สอบบัญชีของ SVOA ทั้งนี้ SVOA ได้ยืนยันว่า ต้องการที่จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ยืนคียงข้างกับ LIT ไปตลอด หากไม่มีความจำเป็นเรื่องการ Consolidate งบการเงินแล้ว SVOA ก็ไม่เคยต้องการลดสัดส่วนการถือหุ้นในลงเลย”

หากไม่จัดโครงสร้างทางการเงินในครั้งนี้โดยปล่อยให้งบการเงินของ LIT มา Consolidate กับบริษัทแม่ ตามมาตรฐานการบัญชีใหม่จะทำให้ SVOA มีปัญหาในเรื่องของการมีภาระเงินกู้ที่มากเกินไป ไม่เหมาะสมต่อกิจการที่ซื้อมาขายไป (Trading) อย่าง SVOA ที่ควรมี D/E ratio เงินกู้ให้ไม่เกิน 2-3:1 ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ LIT เอง เพราะอาจต้องกลับไปใช้เงื่อนไขเงินกู้เดียวกับ SVOA ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการขยายงานอย่างมาก เพราะด้วยลักษณะธุรกิจของอุตสาหกรรมที่เหมือนกับ LIT สามารถที่จะมี D/E ratio ได้ถึง 5-7 : 1 เท่า ซึ่งทำให้การดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัว

“การลดสัดส่วนการถือหุ้นในครั้งนี้จะช่วยให้ทั้งในส่วนของ SVOA ในฐานะบริษัทแม่ และ LIT มี
ความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ไม่ต้องกังวลในเรื่องสัดส่วนหนี้สินต่อทุน และมั่นใจว่าปีนี้พอร์ตสินเชื่อของ ลีซ อิท จะแตะที่ระดับ 1,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้ และกำไรคาดว่าจะเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 30% ได้อย่างแน่นอน และที่สำคัญการลดสัดส่วนของ SVOA จะเป็นการเพิ่ม Free Float ให้หุ้น LIT มีสภาพคล่องหมุนเวียนในตลาดมากขึ้น” นายสมพล กล่าว 


กำลังโหลดความคิดเห็น