หลักทรัพย์บัวหลวง เผยเดือน เม.ย.58 ตลาดหุ้นสวิงตลอดเดือน DW อิง SET50 และ Put DW อิงหุ้นแบงก์ซื้อขายหนาแน่น เหตุผิดหวังงบต่ำกว่าคาด ส่วนหุ้น ITD-TPIPL-PTT ยังฮอตต่อเนื่อง เตรียมส่ง DW 30 ตัวใหม่ลงตลาด 20 พ.ค.นี้ พร้อมเตือนนักลงทุนไม่ต้องเทขาย DW01 ก่อนวันหยุดยาวหากกลัวค่าเสื่อม และหลีกเลี่ยงส่งคำสั่งซื้อขายแบบ ATC ช่วงใกล้ปิดตลาด
นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS เปิดเผยว่า ภาพรวมการซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant : DW) ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ยังคงซื้อขายหนาแน่นใน DW ประเภท Call ในสัดส่วน 68.8% สอดคล้องต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น 20.8 จุด หรือ 1.38% ดัชนีปิดที่ 1,526.74 ล้านบาท โดย DW ที่มีการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรกอยู่ในกลุ่มพลังงาน คิดเป็นสัดส่วน 19.9% กลุ่มบริการก่อสร้าง 15% และกลุ่มสื่อสาร 14.7%
อย่างไรก็ตาม ตลอดเดือน เม.ย.58 ดัชนีหุ้นไทยมีความผันผวนค่อนข้างมากจากปัจจัยภายในประเทศ โดยช่วงต้นเดือนดัชนีทำนิวไฮแตะระดับ 1,575 จุด ได้แรงหนุนจากราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน และกลุ่มปิโตรเคมีปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมทั้งนักลงทุนสถาบันและต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิในตลาด หลังจากยกเลิกกฎอัยการศึก และตัวเลขเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในเดือน มี.ค.58 ออกมาดีกว่าคาด นักลงทุนจึงเข้ามาเก็งกำไร Call DW อ้างอิงหุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงหุ้นขนาดกลางที่ได้ประโยชน์จากโครงการลงทุนของภาครัฐ
“หลังจากหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสแรกออกมาต่ำกว่าคาด รวมถึงตัวเลขส่งออกในเดือน มี.ค.58 ติดลบ 4.45% ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นฉุดดัชนีปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดของเดือนที่ 1,513 จุด แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ตาม โดยนักลงทุนหันมาลงทุนใน Put DW ที่อ้างอิงหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น KTB, KBANK, SCB รวมถึงดัชนี SET50 เพื่อป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน” นายบรรณรงค์ กล่าว
สำหรับ DW ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเดือน เม.ย.58 เป็น DW ที่อ้างอิงกับดัชนี SET50 มีการซื้อขายสูงถึง 13.9% ของการซื้อขาย DW ทั้งหมด รองลงมาคือ DW ที่อ้างอิงหุ้น บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) สัดส่วน 13.3% และ DW ที่อ้างอิงหุ้น บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) สัดส่วนถึง 10.7% โดยทั้ง ITD และ TPIPL ซื้อขายกันมากใน Call DW จากปัจจัยบวกที่เข้ามาสนับสนุน และยังเป็นหุ้นอ้างอิงที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนติดอันดับ 1 ใน 5 ของแต่ละเดือนมาอย่างต่อเนื่อง จากความนิยมในหุ้นอ้างอิงดังกล่าว ตลอดจนเพื่อให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย หลักทรัพย์บัวหลวง จึงเตรียมออก DW ชุดใหม่ จำนวน 30 ตัว เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันที่ 20 พ.ค.นี้ ทั้งประเภท Call และ Put อ้างอิงหุ้น AAV, AMATA, ITD, LH, LPN, PS, PTT, SET50, SIRI, SPCG, TOP, TPIPL, TRUE และTTA นอกจากนี้ ยังมี Call DW อ้างอิงหุ้น KCE และ Put DW อ้างอิงหุ้น IVLโดย DW ทั้งหมดมีอายุประมาณ 6 เดือน และกำหนดวันซื้อขายวันสุดท้ายในวันที่ 30 พ.ย.58
ปัจจุบัน DW ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นเดือน เม.ย.58 มีทั้งสิ้น 904 รุ่น เท่ากับเดือนก่อนหน้า แบ่งเป็น Call 711 รุ่นและ Put 193 รุ่น โดยมีจำนวนหุ้นอ้างอิงที่มีการเสนอขายรวม 103 ตัว เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือน มี.ค. ที่มีจำนวน 99 ตัว มาจากหุ้น บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL), บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI), บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) และ บมจ.ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 (SAWAD) ขณะที่ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของ DW ทั้งระบบอยู่ที่ 1,056 ล้านบาท คิดเป็น 2.7% ของปริมาณการซื้อขายทั้งระบบ โดยหลักทรัพย์บัวหลวงยังครองตลาด DW สูงสุดทั้งส่วนแบ่งการตลาดเมื่อคิดจากมูลค่าการซื้อขายสะสมในในเดือน เม.ย.58 เป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 53.9%
นายบรรณรงค์ กล่าวว่า ในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมามีวันหยุดยาวติดต่อกัน ทำให้ลูกค้าที่ลงทุนใน DW01 หลายรายเกิดความไม่สบายใจว่า DW ที่ตนถือครองอยู่จะถูกตัดค่าเสื่อมเวลาตามระยะเวลาในช่วงวันหยุดดังกล่าว เลยอาจชิงเทขายก่อนข้ามวันหยุดยาว หลักทรัพย์บัวหลวง จึงแนะนำนักลงทุนว่า ไม่จำเป็นต้องรีบขาย DW ที่ถืออยู่เพราะกลัวค่าเสื่อมจะลดลง เนื่องจาก DW01 ทุกรุ่นไม่มีการตัดค่าเสื่อมในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นปี แต่จะตัดค่าเสื่อมเวลาตามวันทำการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดทำการซื้อขายเท่านั้น นอกจากนี้ ยังแนะนำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการสั่งซื้อหรือขาย DW ในช่วงใกล้ปิดตลาด โดยซื้อขายที่ราคาปิด (ATC) แต่ควรส่งคำสั่งซื้อขายแบบเจาะจงราคา (Price Limit) เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะซื้อ DW ได้ที่ราคาแพงกว่าความเป็นจริง หรือขาย DW ที่ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงได้
“ที่ผ่านมาพบว่า ในช่วงตลาดสุ่มเวลาปิดทำการในช่วงบ่าย (16.30-16.40 น.) นักลงทุนหลายรายมักส่งคำสั่งซื้อขาย DW01 ที่ราคาปิด (ATC) ทำให้นักลงทุนอาจซื้อ DW ในราคาสูงเกินจริงหรือขาย DW ได้ราคาต่ำเมื่อเทียบกับราคาปิดของหุ้นอ้างอิงในวันนั้นๆ เนื่องจากช่วงใกล้ปิดตลาดมีความไม่แน่นอนของราคาปิดหุ้นอ้างอิงว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ผู้ดูแลสภาพคล่องจึงไม่สามารถดูแลราคา DW ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ การซื้อขาย DW ในช่วง ATC เป็นไปตามความต้องการซื้อ และความต้องการขายของนักลงทุนเท่านั้น” นายบรรณรงค์ กล่าว
ทั้งนี้ หลักทรัพย์บัวหลวง มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรผลิตภัณฑ์เพื่อให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย ตลอดจนการดูแลสภาพคล่องที่สม่ำเสมอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน รวมทั้งให้ความสำคัญในการให้ความรู้ความใจแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดจัดสัมมนาครั้งต่อไปในวันพุธที่ 20 พ.ค.58 เวลา 17.30-19.30 น. ณ บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง สาขาอินเวสเมนต์สเตชั่น หัวข้อการสัมมนา “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ Derivative Warrant” โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนที่ www.bualuang.co.th