xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์เผย GDP ไตรมาส 1/58 โตได้ 3% คาดการณ์ทั้งปีเหลือโต 3-4%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์ ปรับลดประมาณการ ศก.ปี 58 ลงเหลือ 3-4% จากเดิมที่คาดไว้ 3.5-4.5% ส่วนจีดีพีไตรมาสแรกขยายตัวได้ 3% ปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายของภาครัฐ การบริโภคของประชาชน และภาคการท่องเที่ยว ส่วนภาคการส่งออกและการเกษตรยังติดลบ จากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว การแข็งค่าของค่าเงินบาท ราคาน้ำมัน และสินค้าเกษตรในตลาดโลกผันผวน และการตัดสิทธิพิเศษทางการค้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สศช. ปรับประมาณการณจีดีพีปี 2558 เหลือร้อยละ 3-4 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ส่วนจีดีพีไตรมาสแรกปี 2558 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ร้อยละ 3 ปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายของภาครัฐ การบริโภคของประชาชน และภาคการท่องเที่ยว ส่วนภาคการส่งออก และการเกษตรยังติดลบ จากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว การแข็งค่าของค่าเงินบาท ราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรในตลาดโลกผันผวน และการตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ในสินค้าส่งออกของไทยไปยุโรปบางประการ

ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 0.2 การบริโภคของครัวเรือน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.3 และร้อยละ 6.2 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ -0.3 ถึงร้อยละ 0.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 3.9 ของ GDP

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือของปี สศช. เชื่อว่า มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นตามความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม ประกอบกับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายปี ขณะเดียวกัน การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ส่งสัญญาณที่ดีแก่เศรษฐกิจไทย ช่วยให้การส่งออกของไทยเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีเป็นต้นไป แต่ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี สศช. เห็นควรว่า ภาครัฐควรเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านการส่งออก แก้ไขปัญหาด้านการเกษตร บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออก และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐตามแผนที่วางไว้ เพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น