“หม่อมอุ๋ย” แจงผลหารือ “แบงก์ชาติ-สภาพัฒน์” สรุปเงินเฟ้อที่ติดลบในขณะนี้ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด แต่จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนที่ไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด หรือไม่นั้น คงต้องรอติดตามในช่วง 5-6 เดือนจากนี้ พร้อมแจงไอเอ็มเอฟไทยเน้นสร้างพื้นฐานระยะยาว หวังเรียกเชื่อมั่นทั้งอุตสาหกรรมแนวใหม่ การปฏิรูปภาษี โครงสร้างราคาน้ำมัน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า การหารือกับนายมิตซูฮิโร ฟูรูซาวา(Mitsuhiro Furusawa) รองกรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในโอกาสนายมิตซูฮิ เข้ารับตำแหน่งใหม่ ไอเอ็มเอฟมีสมาชิก 94 ประเทศทั่วโลก แต่ได้เดินทางมาเยือนไทยเป็นประเทศแรกหลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง ทั้งนี้ ได้ชี้แจงกรณีกรณีที่อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกัน 4 เดือน ทำให้มีข้อกังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะเกิดภาวะเงินฝืดว่าตนได้หารือร่วมกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
โดยได้ข้อสรุปว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดภาวะเงินฝืด แต่เกิดจากผลกระทบการปรับลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลงมาเหลือ 50 – 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น ซึ่งราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมาก ทำให้ราคาของโลหะมีค่าทุกชนิดปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเหล่านี้มีกำลังซื้อลดลงจนกระทบต่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าของหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่ราคาพืชผลเกษตรปรับตัวลดลงทั้งข้าว ยางพารา รวมทั้งน้ำตาลที่ราคาเริ่มตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง
อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดเศรษฐกิจไทยยังไม่เผชิญกับภาวะเงินฝืด เห็นได้จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัว โดยนักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ขณะที่การเปิดโรงงานใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังมีการขยายตัว โดย สศช.ยืนยันว่าไตรมาส 1/2558 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 โดยตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาส 1 สศช.จะประกาศตัวเลขในวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 โดยเศรษฐกิจชะลอตัวไม่ได้แปลว่าเงินฝืด จึงต้องรอให้ลงให้สุดก่อน โดยจะรับผลกระทบไปประมาณ 5-6 เดือน ถึงจะทราบว่าหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ได้ชี้แจงว่ารัฐบาลมีแผนการระยะยาวที่จะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยดำเนินการ 5 ด้านสำคัญ คือ 1.การปรับปรุงแผนการส่งเสริมการลงทุนผ่านยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ 2.นโยบายการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย (IHQ) 3.การปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงาน โดยลดการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทและเก็บภาษีตามอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 4.การปฏิรูปการเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน โดยขณะนี้ทำเรื่องการจัดเก็บภาษีมรดกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำลังศึกษาข้อมูล เพื่อนำมาหารืออีกครั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม และ 5.การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล
สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทางเครดิตบูโรคาดว่าปี 2558 จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนไปถึงระดับร้อยละ 90 ของจีดีพีนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ระดับร้อยละ 80 มานานแล้ว คือตั้งแต่ตอนที่ตนทำงานอยู่ที่ ธปท.ก็อยู่ในระดับดังกล่าว ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 87 ของจีดีพี ซึ่งไม่น่ากังวลมากนัก เพราะตัวเลขของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังไม่สูงมาก โดยส่วนหนึ่งที่หนี้ครัวเรือนปรับตัวเพิ่มคือการที่รัฐนำเอาหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบ
โดยตัวเลขสินเชื่อรายย่อยที่คิดดอกเบี้ยบุคคลธรรมดาร้อยละ 28 ต่อปี ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกธนาคารปล่อยกู้ 2 ล้านรายเศษ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) อยู่ที่ประมาณ 8.7 ล้านราย และในอนาคตจะมีหนี้นาโนไฟแนนซ์อีก เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบตัวเลขหนี้ครัวเรือนก็จะสูงขึ้น แต่จะควบคุมได้ง่ายและไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายมาก ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่รวมสินเชื่อบ้านมากระโดดขึ้นตอนสินเชื่อผ่อนรถยนต์ และบัตรเครดิต ซึ่งบัตรเครดิตธนาคารก็ชะลอการให้สินเชื่อประเภทนี้ลง