xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าการ ธปท. ชี้เงินบาทอ่อนค่าในช่วงนี้ถือเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าการ ธปท. ชี้ เงินบาทอ่อนค่าในช่วงนี้ถือเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ยืนยันไทยยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด แม้เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง คาดเป็นภาวะชั่วคราว เพราะอัตราการว่างงานของไทยยังต่ำ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในขณะนี้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย โดยเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้าย การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และตัวเลขสหรัฐฯ ที่ยังคงเข้มแข็ง ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า แต่ยังคงต้องติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทต่อไปว่าจะอ่อนค่ามากแค่ไหน เพราะยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แต่ก็ยอมรับว่าการที่เงินบาทอ่อนค่าเป็นผลดีต่อการส่งออก และเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่ากว่าเงินสกุลอื่นๆ

ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2558 นายประสาร ยอมรับว่า การฟื้นตัวอ่อนแรงกว่าที่คาด โดยมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาด ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศ เพราะแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัว แต่การบริโภค และการค้าขายในประเทศยังไม่ฟื้นทำให้มีการนำเข้าของสหรัฐฯ ลดลง ซึ่งการส่งออกของไทยที่ลดลงทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อการส่งออกได้ร้บผลกระทบไปด้วย การบริโภคในประเทศจึงชะลอตัวตาม

“แม้ว่าการเบิกจ่ายภาครัฐ และการท่องเที่ยวจะขยายตัวได้ดี แต่ยังไม่สามารถชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัวได้ จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.25 ในการประชุมครั้งล่าสุด เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ”

ส่วนอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน ติดลบร้อยละ 1.4 เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ยังไม่น่ากังวล เพราะเชื่อว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และมาจากการคาดการณ์ที่มองว่า แนวโน้มเงินเฟ้อจะลดลง ซึ่งทำให้การบริโภคชะลอตัวตาม

อย่างไรก็ตาม แม้เงินเฟ้อจะติดลบ 4 เดือนต่อเนื่อง แต่ยืนยันว่า ประเทศยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากอัตราการว่างงานของไทยยังต่ำ กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่ได้แผ่วลงมาก และภาคการอุปโภคบริโภคก็ยังไม่ติดลบ

นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นช่วงขาลงอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับในตลาดต่างประเทศ ซึ่งการที่ กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยลง ในส่วนของธนาคารยังต้องประเมินการตัดสินใจของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ว่าจะลดดอกเบี้ยลงหรือไม่ เพราะธนาคารมีสัดส่วนมาร์เกตแชร์ในตลาดเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากภาวะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล และหนี้ครัวเรือนในระบบยังอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกัน ประชาชนก็มีความระมัดระวังทางด้านการเงินมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น