ผู้บริหาร ธ.ซีไอเอ็มบีฯ ยอมรับ กนง. ปรับลด ดบ.ครั้งนี้ วันนี้ สร้างความแปลกใจให้ตลาด ชี้ สิ่งที่กังวลคือ ผลข้างเคียง ได้แก่ ภาวะฟองสบู่ และหนี้ครัวเรือน พร้อมวอน ธปท.ส่งสัญญาณ ดบ.ให้ชัดอีกครั้ง เพราะกังวลว่า นักลงทุนจะเข้าใจว่า ดบ.อยู่ในช่วงขาลง เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา กนง.จะไม่ปรับลด ดบ.ลง 2 ครั้งติดกัน หากไม่เกิดวิกฤต ศก. ดังนั้น เพื่อให้การปรับลด ดบ.รอบนี้ เกิดประโยชน์เต็มที่
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมวันนี้ (29 เม.ย.) สร้างความแปลกใจให้ตลาด เนื่องจากปรับลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด แต่คงช่วยผู้ประกอบการในประเทศให้ลงทุนไม่ได้มาก เพราะปัจจัยหลักๆ ของผู้ประกอบการคือ รอการลงทุนภาครัฐ ขณะที่ดอกเบี้ยในประเทศนั้นต่ำอยู่แล้ว แทบจะต่ำสุดในภูมิภาค ส่วนธนาคารพาณิชย์เองก็ระวังในการปล่อยสินเชื่อเพราะห่วงหนี้เสีย
ส่วนการช่วยผู้ส่งออกผ่านค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง พบว่าจากการปรับลดดอกเบี้ยรอบที่แล้วเมื่อ 11 มี.ค.58 ค่าเงินบาทอ่อนค่าช่วงวันที่ 11-19 มี.ค. แต่หลังจากธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณว่าจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าอีกครั้งและทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกระลอก จึงต้องจับตาสัญญาณจากสหรัฐฯ หากธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณว่าจะไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งและอาจไม่ทะลุแนวต้านที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังการลดดอกเบี้ยในรอบนี้
นายอมรเทพ กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือผลข้างเคียงจากการปรับลดดอกเบี้ย ได้แก่ ภาวะฟองสบู่และหนี้ครัวเรือน โดยภาวะฟองสบู่อาจเกิดจากเมื่อดอกเบี้ยปรับลง ทำให้แรงจูงใจในการออมลดลงไปด้วย คนจะหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้น คือ อสังหาริมทรัพย์ จึงต้องระวังและพยายามสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ ก่อนเกิดปัญหาจนลามเป็นภาวะฟองสบู่
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลาง-ล่าง จะเป็นหนี้มากขึ้นจนทำให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูง และผู้มีรายได้ระดับบนหากก่อหนี้จนเกิดฟองสบู่ จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่สมดุลและเกิดเป็นปัญหาระยะยาว
นายอมรเทพ กล่าวว่า สัญญาณจาก ธปท. หลังการลดดอกเบี้ยรอบนี้อยากให้ ธปท.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยให้ชัดอีกครั้ง เพราะกังวลว่านักลงทุนจะเข้าใจว่าดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้ชะลอการลงทุนเพื่อรอต้นทุนการเงินปรับลดลงไปอีก เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา กนง.จะไม่ปรับลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งติดกันหากไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อให้การปรับลดดอกเบี้ยรอบนี้เกิดประโยชน์เต็มที่จึงอยากให้ ธปท.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยให้ชัด