xs
xsm
sm
md
lg

วางโมเดลพัฒนาเชียงรายศูนย์เรียนรู้แผ่นดินไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
วสท. ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี พัฒนาเชียงรายเป็นศูนย์เรียนรู้แผ่นดินไหว เร่ง 13 โครงการ ตามแผนรับมือภัยพิบัติปี 58 เตรียมสร้างห้องจำลองแรงสั่นแผ่นดินไหว

นับเป็นเวลาครบรอบ 1 ปี จากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประเทศไทยขนาด 6.3 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 2558 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้แก่อาคาร บ้านเรือน วัดวาอาราม โรงเรียนในเขต อ.พาน และ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ได้รับความเสียหายหนัก ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จับมือกับกรมทรัพยากรธรณี พัฒนาศูนย์เรียนรู้แผ่นดินไหว จ.เชียงราย พร้อมเร่งเดินหน้างานก่อสร้าง 5 อาคารเรียนพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โครงการสร้างศาลาการเปรียญต้านแรงแผ่นดินไหววัดมะเฟือง และเตรียมสร้างห้องจำลองการสั่นของแผ่นดินไหว 4-5 ริกเตอร์ พร้อมเร่งเดินหน้ารับมือภัยแผ่นดินไหว ปี 2558 รวม 13 โครงการให้แล้วเสร็จตามแผน

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กับกรมทรัพยากรธรณี ในการพัฒนาเชียงรายให้เป็นศูนย์การเรียนรู้แผ่นดินไหวนับเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของประเทศไทยที่องค์ความรู้ด้านธรณีวิทยามาผสมผสานกับวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมไปกับเชื่อมโยงกับสายใยความเอื้ออาทรอันเป็นรากฐานสำคัญของสังคมไทยให้คงอยู่ สร้างเสริมความเข้มแข็งในชุมชน และประเทศชาติ ต่อไปต้องยอมรับว่าโลกไม่เหมือนเดิมแล้ว ด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก และสิ่งแวดล้อม ทำให้คนไทย และอาเซียนต้องเผชิญต่อภัยพิบัติที่อาจรุนแรงขึ้น และเกิดบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นเสาหลักของประเทศด้านวิศวกรรมและก่อตั้งมา 72 ปี

นอกจากเราจะพัฒนามาตรฐานวิชาชีพวิศวกรให้ก้าวไกลเพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าแล้วเรายังมุ่งช่วยเหลือแบ่งปันแก่สังคมด้วย จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเชียงราย ซึ่งมีศูนย์กลางที่ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 27 กิโลเมตร และมีอาฟเตอร์ช็อกหลายพันครั้ง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 54,520 ราย วสท.ได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวจังหวัดเชียงราย โดยมี รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อุปนายก วสท. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ดร.ธเนศ วีระศิริ เป็น ผู้จัดการศูนย์เฉพาะกิจฯ และ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท.ได้ลงพื้นที่ และจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านก่อสร้างในพื้นที่แผ่นดินไหว และการซ่อมแซมตามหลักวิศวกรรม สำหรับอาคารเรียนพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 4 หลัง กำลังดำเนินการก่อสร้าง มีโรงเรียนธารทองพิทยาคม และโรงเรียนโป่งแพร่วิทยา เป็นอาคาร 2 ชั้น จะแล้วเสร็จในปลายปี 2558 และอีก 2 อาคาร คือ โรงเรียนพานพิทยาคม และโรงเรียนแม่ลาววิทยาคม เป็นอาคาร 3 ชั้น และ 4 ชั้น ตามลำดับ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2559 ส่วนการควบคุมงานมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจาก วสท.ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ส่วนงานก่อสร้างศาลาการเปรียญวัดดงมะเฟือง จ.เชียงราย ที่เสียหายหนัก ทาง วสท. ได้ประสานความช่วยเหลือทุนบริจาค 5.55 ล้านบาท จากคณะนักศึกษาสถาบันวิทยาการธุรกิจและอุตสาหกรรม (วธอ.) นำโดย คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานนักศึกษา วธอ. มาช่วยเหลือ และได้เริ่มงานก่อสร้างแล้ว

วสท.มีข้อเสนอแนะว่า ในการพัฒนาเมืองในอนาคตต้องคำนึงถึงปัจจัยแผ่นดินไหวในการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ในเขตพื้นที่เสี่ยงให้สอดคล้องกัน แผนความปลอดภัยแห่งชาติควรครอบคลุมภัยแผ่นดินไหว โดยมีแผนสนับสนุนที่ชัดเจน นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการศึกษาวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เลือกสรร และใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ให้ความปลอดภัยในค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง

นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณี ได้ดำเนินโครงการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวให้แก่ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5 ครั้ง และได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้แผ่นดินไหว จ.เชียงราย ขึ้น ณ องค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย และส่งมอบให้แก่ อบต.ทรายขาว โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญในศูนย์คือ 1.นิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหว ได้แก่ สาเหตุการเกิด / ผลกระทบ / วิธีการเตรียมความพร้อม และการปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว 2.การแสดงข้อมูลแผ่นดินไหว ตำแหน่งการเกิดแผ่นดินไหวแบบ Real Time ผ่านจอมอนิเตอร์ 3.จัดแสดงแบบจำลอง (Model) การเกิดทรายพุ และลักษณะภูมิประเทศในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 4.การจัดแสดงชิ้นตัวอย่างของบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เช่น จักรยานที่ได้รับจากความเสียหาย นาฬิกาที่หยุดเดินขณะเกิดแผ่นดินไหว เป็นต้น 5.การประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านแผ่นดินไหวผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เอกสารเผยแพร่ และเว็บไซต์ เป็นต้น

ด้านแผนการรับมือภัยแผ่นดินไหว ในปี 2558 ทางกรมทรัพยากรธรณี มีแผนและมาตรการรับมือภัยแผ่นดินไหว ในปี 2558 คือ 1.เชื่อมโยงเครือข่ายสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวแบบต่อเนื่องตลอดเวลา ของหน่วยงานภาคีทั้งในประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ 2.จำแนกระดับความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวในพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวระดับจังหวัดโดยการประเมินระดับความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ซึ่งมีประโยชน์ในการกำหนดเกณฑ์ปลอดภัยในการออกแบบก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน และระบบสาธารณูปโภคให้ต้านแรงแผ่นดินไหว อันจะช่วยลดการสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินจากภัยแผ่นดินไหว เช่น พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ฯลฯ เป็นต้น 3. ติดตามพฤติกรรมและศึกษารูปแบบการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนมีพลังซึ่งเป็นสาเหตของการเกิดแผ่นดินไหว ด้วยการติดตั้งเครื่องมือวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดินระบบอัตโนมัติ จำนวน 60 สถานี ซึ่งจะครบในปี 2558 ที่ครอบคลุมรอยเลื่อนมีพลังทั้งในประเทศไทย และเพื่อนบ้าน 4.สร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตะหนักในการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหว รวมทั้งวิธีปฏิบัติตนให้ปลอดภัยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อุปนายก และประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมปฐพี วสท.กล่าวว่า การดำเนินงานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)ในการช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นเชียงรายที่ประสบภัยและผลกระทบจากแผ่นดินไหว ประกอบด้วย 1.สำรวจอาคารที่เสียหายในพื้นที่ 1 หมื่นหลัง ซึ่งประชาชนต้องออกมานอนนอกบ้าน โดยวิศวกรอาสา จำนวน 500 คน เข้าตรวจสอบเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ ซึ่งนับว่าเร็วกว่าในประเทศญี่ปุ่น 2.จัดอบรมช่าง และบุคลากรท้องถิ่นในเชียงราย โดย วสท.ร่วมกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงราย จัดการสัมมนาเรื่อง “การซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย” เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 โดยสรุปความเสียหาย และแนวทางการช่วยเหลือจากภาครัฐ การสร้างความเข้าใจรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่มีพลัง กรณีศึกษาการแยกของดินที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว การเฝ้าระวัง การตรวจสอบอาคาร และวิธีแก้ไข และแนวทางการออกแบบอาคารในอนาคตสำหรับพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว

3.จัดทำสมุดบันทึกเหตุการณ์ครั้งสำคัญทางวิชาการรวบรวมผลการสำรวจศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว โดยจัดประชุมสัมมนาหน่วยงานพันธมิตรภาคีต้านภัยแผ่นดินไหว และระดมความคิดเห็นของนักวิชาการอิสระต่างๆ และประชาชน เพื่อถอดบทเรียนแผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ประชาชน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 ณ อาคารกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

4.เริ่มงานก่อสร้างศาลาการเปรียญ หรืออาคารอเนกประสงค์หลังใหม่ทดแทนหลังเก่าที่พังเสียหายจากแผ่นดินไหว สำหรับพระสงฆ์ และชาวบ้านไว้ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้านจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2558 โดยออกแบบเป็นอาคารชั้นเดียว และมีชั้นใต้ถุนสำหรับเก็บสัมภาระสิ่งของ โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กต้านแผ่นดินไหว ส่วนกำแพงใช้อิฐเสริมเหล็กพิเศษป้องกันการล้ม หลังคาเป็นทรงต่ำทำด้วยเหล็กเพื่อลดการสั่นไหว และป้องกันลูกเห็บส่วนตัวเสาอาคารเสริมด้วยเหล็กปลอกระยะถี่ขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับแรงกระทำด้านข้าง ทางเข้าและทางออกอาคารมี 2 ทาง และมีทางลาดสำหรับวีลแชร์คนชราและคนพิการด้วย

5.ในระหว่างการก่อสร้างศาลาการเปรียญวัดดงมะเฟืองหลังใหม่นี้ จะถูกใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติของกลุ่มช่างในชุมชน และพื้นที่ข้างเคียง ทั้งนี้ กลุ่มช่างท้องถิ่นจะดูแลการจัดซื้อ บริหารจัดการงบประมาณ การจัดสรรแรงงาน และการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนเวลา บางส่วนของอาคารศาลาการเปรียญเราอาจจะเปิดส่วนประกอบบางจุดแสดงภายในให้เห็นวิธีการผูกเหล็กและเทคนิคก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้ต้านแรงแผ่นดินไหว เมื่อสร้างเสร็จก็จะเป็นอาคารสำหรับการเรียนรู้ให้แก่ช่างในชุมชน ชาวบ้าน และนักศึกษาได้เข้ามาดูงานได้ เพื่อพัฒนาสิ่งก่อสร้างในอนาคตและสืบสานให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้โครงสร้างอาคารต้านแรงแผ่นดินไหวอีกด้วย

6.กรณีเขื่อนแม่สรวย ที่ชาวบ้านกลัวว่า เขื่อนที่มีการรั่วซึมอาจจะแตกเนื่องจากอยู่ในพื้นที่แผ่นดินไหว ทาง วสท.ได้ส่งทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญลงสำรวจและวิเคราะห์ พร้อมทั้งเปิดเวทีให้ข้อมูลทางวิชาการ และรับฟังข้อคิดเห็นจากชุมชน โดย วสท.เป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนกับหน่วยงานราชการในการแก้ไขปัญหา ได้ผลสรุปแนวการปรับปรุงเขื่อนแม่สรวย เสนอแก่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยคาดว่าในปี 2558 กรมชลประทาน จะดำเนินการออกแบบเพื่อปรับปรุงเขื่อน และติดตั้งหอเตือนภัย และในปีถัดไปคงจะดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงตัวเขื่อนแม่สรวย

ความร่วมมือระหว่าง วสท.และกรมทรัพยากรธรณี ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้แผ่นดินไหว จ.เชียงรายครั้งนี้ จะเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์เรียนรู้แบบ Active Learning และการเตรียมพร้อมของประชาชนอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเพื่อนำมาวางแผนใช้ในปัจจุบัน และอนาคต วสท.จะร่วมพัฒนาศูนย์แห่งนี้ ดังนี้ 1.โครงสร้างบ้านต้านแรงแผ่นดินไหว ซึ่งทาง บ.เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) ผู้ผลิตโครงบ้านเหล็กอะลูมินัมซิงค์ และวัสดุผนัง Bearing Wall ได้มอบให้ทางศูนย์เรียนรู้แผ่นดินไหว จ.เชียงราย นำไปจัดแสดงแก่ประชาชน ช่างท้องถิ่น และเยาวชนได้ศึกษา 2.สร้างห้องจำลองการสั่นจากแรงแผ่นดินไหว โดยคณะกรรมการยุววิศวกร วสท.เป็นผู้ออกแบบ และผลิต เพื่อให้ประชาชนมีประสบการณ์ และความรู้ความเข้าใจในเรื่องของภัยแผ่นดินไหว และมีการเตรียมพร้อมที่ดีในพื้นที่เสี่ยง

ผศ.ดร.วิทิต ปานสุขประธานยุววิศวกร วสท.กล่าวถึงรายละเอียดการสร้างห้องจำลองการสั่นจากแรงแผ่นดินไหว “เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงมักมีความสูญเสียและความเสียหายเกิดขึ้นสูงตามมา ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจในพื้นฐานเรื่องของแผ่นดินไหวจะทำให้เราทราบถึงธรรมชาติของสาเหตุการเกิดแผ่นดินไหว ตลอดจนลักษณะความรุนแรงของภัยแผ่นดินไหว ความถี่มากน้อยของการเกิดแผ่นดินไหว คณะกรรมการยุววิศวกรจึงได้เตรียมสร้างซิมูเลเตอร์ห้องจำลองสถานการณ์แผ่นดินไหวมีต้นแบบ จากห้องจำลองในประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่ง วสท.ได้ออกแบบสร้างเองในราคาประหยัด 2 แสนบาท หากซื้อจากต่างประเทศจะอยู่ในราว 1 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.2558 ประชาชนสามารถลองสัมผัสประสบการณ์แผ่นดินไหวที่ระดับความรุนแรงตามมาตราเมอร์คัลลี V (Mercalli scale V) ประมาณ 4-5 ริกเตอร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้คนรู้สึกได้ พร้อมทั้งสิ่งของขนาดเล็กเคลื่อนที่ โดยมุ่งเน้นให้มีการสั่นไหวอ้างอิงจากแรงสั่นไหวที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย (0.1-1 Hertz) มีแรงโยกทั้งในแนวราบ และแนวดิ่ง ตั้งค่าสั่นสะเทือนครั้งละ 1 วินาที และกำหนดโปรแกรม 15 วินาที/รอบ นอกจากนี้ ยังออกแบบให้ลากจูงเคลื่อนย้ายไปแสดงนอกสถานที่ได้อีกด้วย วัตถุประสงค์ของห้องจำลองการสั่นจากแรงแผ่นดินไหว เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมรับมือต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพิ่มพูนความรู้ให้แก่ประชาชนผ่านการเรียนรู้จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจำลองสถานการณ์แผ่นดินไหว และแนะนำการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในเขตภัยพิบัติ ช่วยบรรเทาปัญหา และการสูญเสียลงได้อย่างมาก อันจะมีส่วนในการพัฒนาสังคมไทยที่ปลอดภัย และยั่งยืน”
กำลังโหลดความคิดเห็น