xs
xsm
sm
md
lg

โอกาส ความท้าทาย และแนวโน้มการลงทุนในพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โอกาส ความท้าทาย และแนวโน้มการลงทุนในพม่า
  หลังจากที่รัฐบาลพม่า โดยการนำของ พล.อ.เต็ง เส่ง ได้ดำเนินโยบายปฏิรูปประเทศตั้งแต่ปี 2554 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนที่เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติจากปี 2555 เป็นต้นมา พม่า ได้กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งมีปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญ คือ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดประชากรมากกว่า 50 ล้านคน ที่ตั้งของประเทศเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการค้า และการลงทุนซึ่งอยู่ระหว่าง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของเอเชีย นั่นคือ จีน และอินเดีย และการเป็นสมาชิกของอาเซียน และการปรับเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC  ในช่วงสิ้นปี 2558 สิ่งเหล่านี้ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้มาลงทุนขยายธุรกิจ จากข้อมูลสถิติของ Directorate of Investment and Company Administration (DICA) เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าพม่าในช่วงปีงบประมาณ 2553/54-2557/58 มากกว่า 36.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและบริการหลายสาขา เช่น พลังงาน ผลิตไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เหมืองแร่ การขนส่งและลอจิสติกส์ การเงินธนาคาร การท่องเที่ยว 

  การลงทุนโครงการขนาดใหญ่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจพม่านับตั้งแต่การประกาศปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในธุรกิจพลังงาน และโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น จีน ไทย สิงคโปร์ และเงินทุนจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก หรือ World Bank ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของพม่ามีโอกาสเจริญเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 8.3 ในปี 2558 และประมาณร้อยละ 8 ในปี 2559

  จากการที่ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของพม่ามายาวนาน ส่งผลให้นักลงทุนไทยมีโอกาสลงทุนโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone Project) ซึ่งถือเป็นโครงการยุทธศาสตร์จากการร่วมทุนของทั้ง 2 ประเทศ เป็นการเขื่อมโยงระบบลอจิสติกส์ ทั้งภายใน และภายนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจพม่าในระยะยาว

ในส่วนของการค้าชายแดนซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน ข้อมูลสถิติจากกรมศุลกากรแสดงให้เห็นว่า มูลค่าการค้าชายแดนไทย-พม่า คิดเป็นร้อยละ 47 ของมูลค้าการค้าชายแดนระหว่างไทย และประเทศเพื่อนบ้านแถบลุ่มแม่น้ำโขง (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) และนักวิเคราะห์ประเมินว่า มูลค่าการค้าชายแดนไทย-พม่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 9-10 ต่อปี  นอกจากนี้แล้ว สนธิสัญญาทางด้านภาษีระหว่างรัฐบาลไทย-พม่า ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2555 จะช่วยลดภาระทางภาษี และสร้างแรงจูงใจให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนที่พม่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  จากการที่รัฐบาลพม่ากำหนดยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเน้นพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการอย่างจริงจัง นอกจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายแล้ว รัฐบาลพม่าได้อนุมัติให้มีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก 2 แห่ง นั่นคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวา (Thilawa Special Economic Zone) ตั้งอยู่ใกล้เมืองย่างกุ้ง (Yangon) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างพม่า และญี่ปุ่น ซึ่งจะเน้นการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เช่น สิ่งทอ สินค้าไฮเทค และเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้ากู (Kyaukpyu Special Economic Zone) ตั้งอยู่ในรัฐยะไข่ (Rakhine State) ซึ่งอยู่ทางทางตะวันตกของพม่า ซึ่งคาดว่ากำลังจะเริ่มดำเนินก่อสร้างในปีนี้  โดยจะเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต บริการ และลอจิสติกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และเมืองแร่ และเร็วๆ นี้ กลุ่มอมตะ (AMATA) ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาและบริหารนิคมอุตสาหกรรมของไทย ได้ประกาศกลยุทธ์การลงทุนเพื่อใช้โอกาสจากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ AEC ในปี 2558 โดยจะเพิ่มการลงทุนในเวียดนาม และมีแผนที่จะลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพม่า เนื่องจากความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ที่เป็นประตูเชื่อมไปยังประเทศแถบตะวันตก

  ถึงแม้ว่า เศรษฐกิจพม่ามีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโต และดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลพม่ายังคงต้องเผชิญต่อความท้าทาย 3 ด้าน ที่อาจส่งผลให้การปฏิรูปประเทศเกิดการสะดุด นั่นคือ

  เสถียรภาพทางการเมือง การดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศพม่าส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน และมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงปลายปี 2558 หลายฝ่ายมองว่า การเมืองของพม่าในอนาคตยังคงไม่ชัดเจน และคาดการณ์ว่า แม้ประเทศพม่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง กลุ่มทหารจะยังรักษาอำนาจทางการเมืองเอาไว้ และความท้าทายทางการเมืองอีกอย่างหนึ่ง คือ การยุติความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้นำชนกลุ่มน้อยได้มามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายปฏิรูปประเทศ



         และหากดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ลดปัญหาความยากจน และความ
         เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนชาวพม่า

  • การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จากผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันปี 2557-2558 (The 2014-2015 Global Competitiveness Report) พม่าอยู่อันดับที่ 134 จากทั้งหมด 144 ประเทศ  และนักวิเคราะห์ได้ให้ความเห็นว่า ณ ปัจจุบัน พม่ายังคงเป็นประเทศที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน และภาคการเกษตรขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หากพม่าต้องการขยับไปเป็นประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลาง (Middle - Income Country) พม่าต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยเพิ่มความเข้มแข็งให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการ และกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ภาคการเกษตร

  • อุปสรรคและความยุ่งยากในการลงทุนทำธุรกิจ จากผลการจัดอันดับความสะดวกสบายในการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในปี 2557 (The 2014 Ease of Doing Business) โดยธนาคารโลก พม่า ถูกจัดให้อยู่ลำดับที่ 177 จาก 189 ประเทศ นักวิเคราะห์ได้อธิบายว่า  ถึงแม้รัฐบาลพม่าได้พยายามดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยปรับแก้กฎระเบียบข้อบังคับด้านการลงทุนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่นักลงทุนต่างชาติยังต้องเผชิญความยุ่งยากในการทำธุรกิจที่พม่า เช่น ราคาที่ดิน และค่าเช่าสำนักงานในเมืองเศรษฐกิจสำคัญๆ อยู่ในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมืองย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ นอกจากนี้แล้ว เศรษฐกิจของพม่านั้นยังคงใช้เงินสดเป็นหลัก ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ถูกพัฒนาให้ตอบสนองความต้องการของนักลงทุนได้ดีเท่าที่ควร เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลพม่าต้องให้ความสำคัญต่อการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การแก้ไขข้อปัญหาอุปสรรคในการลงทุน และดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง ซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกิจในพม่าเกิดความสะดวกสบายมากขึ้น


 จากที่กล่าวมาข้างต้น ดีลอยท์มองว่า ประเทศพม่ากำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ และรัฐบาลพม่าต้องทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อลดอุปสรรค และเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ เพื่อให้เศรษฐกิจของพม่ามีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างฐานการผลิตสินค้า การค้าระหว่างประเทศ และขยายฐานลูกค้าซึ่งกำลังซื้อมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น