พัฒนาการของตลาดทุนไทย เริ่มต้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2505 โดยได้มีการจัดตั้งตลาดหุ้นกรุงเทพ (BANGKOK STOCK EXCHANGE) เริ่มต้นจากจดทะเบียนในรูปห้างหุ้นส่วนจำกัด แล้วมาจดทะเบียนเปลี่ยนเป็นรูปบริษัทจำกัดในปีต่อมา ในสมัยนั้นมีมูลค่าซื้อชายน้อยมาก เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจ ปี พ.ศ.2511 มีมูลค่าการซื้อขายทั้งปีเป็นจำนวนเงิน 160 ล้านบาท แล้วค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือเพียง 28 ล้านบาทในปี พ.ศ.2513 และต้องปิดตัวลงในปี พ.ศ.2515 เนื่องจากมีมูลค่าซื้อขายในปีนั้นเพียง 26 ล้านบาทเท่านั้น เทียบกับมูลค่าซื้อขายในปัจจุบันซึ่งตกวันละประมาณ 40,000-60,000 ล้านบาทต่อวัน เหมือนดูหนังคนละม้วนเลยทีเดียว การที่ตลาดหุ้นกรุงเทพไม่ประสบความสำเร็จ น่าจะเป็นเพราะประชาชนในสมัยนั้นยังขาดความรู้ และความเข้าใจในเรื่องตลาดหุ้น อีกทั้งยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ
แม้ว่าตลาดหุ้นกรุงเทพจะไม่ได้รับความนิยมก็ตาม แต่ภาครัฐก็เริ่มเล็งเห็นความสำคัญของตลาดทุน จะเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2510-2514) ซึ่งได้เสนอแผนจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยให้มีมาตรการในการกำกับดูแล และเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่างๆ จนกระทั่งปี พ.ศ.2517 จึงได้มีประกาศใช้ พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อส่งเสริมการระดมทุนแก่ธุรกิจที่ต้องการเงินทุนในการประกอบการ และเป็นช่องทางให้ประชาชนที่ต้องการนำเงินออมมาลงทุนในตลาดทุน และตลาดหลักทรัพย์ได้เปิดทำการวันแรกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 โดยชื่อภาษาอังกฤษในขณะนั้นคือ THE SECURITIES EXCHANGE OF THAILAND ซื่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น THE STOCK EXCHANGE OF THAILAND : SET เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2534
“เมื่อเรารู้จักที่มาที่ไปของตลาดหลักทรัพย์กันแล้ว เรามาดูสถิติย้อนหลังที่น่าสนใจว่ามีการขึ้นลงอย่างไรกันครับ”
SET INDEX ที่เริ่มตันจากฐานที่ 100 จุด เมื่อวันแรกเปิดตลาด ได้ไปสร้างจุดสูงสุดที่ 1,789.16 จุด ในเดือนมกราคม 2537 นับว่าเป็นการขึ้นที่ดีมาก คือขึ้นไปถึง 1,689.16 จุด ภายในเวลา 18 ปี 9 เดือน เท่านั้น คิดเป็นผลตอบแทนในการลงทุนแบบทบต้นประมาณ 16.50% นั่นหมายความว่า ถ้าท่านลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าวแล้วสามารถสร้างผลกำไรตอบแทนจากการลงทุนได้เทียบเท่าการปรับตัวขึ้นมาของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ บวกกับอัตราเงินปันผลที่ท่านได้รับจากการถือครองหุ้นเหล่านี้อีก ซึ่งปกติ DIVIDEND YIELD เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 3-4% ดังนั้น ผลตอบแทนรวมที่ท่านได้รับจะเท่ากับ 20% (แบบทบต้น) โดยประมาณ และถ้าท่านสามารถบริหารพอร์ตการลงทุนของท่านได้ดี โดยสร้างผลตอบแทนจาการลงทุนได้ดีกว่า SET INDEX ที่ผมใช้เป็น BENCHMARK ผลตอบแทนยิ่งจะสูงขึ้นไปอีก นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ดึงดูดผู้มีเงินออมให้นำเงินออมมาลงทุนในตลาดหุ้นทั้งทางตรง (ลงทุนซื้อหุ้นเอง) และทางอ้อม (ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารทุน) แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์ BLACK MONDAY (ตุลาทมิฬ) ที่สร้างความเสียหายให้แก่นักลงทุนทั่วโลก รวมทั้งไทย ที่มีจุดเริ่มตันจากสหรัฐอเมริกา ที่มีการเทขายอย่างหนักหน่วงทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาตกระเนระนาด พลอยทำให้ตลาดอื่นๆ ทั่วโลกพลอยถูกแรงขายเทกระหน่ำราวกับว่าตลาดหลักทรัพย์จะเจ๊ง โดยเฉพาะ SET INDEX ของเราลงจาก 472.86 จุด ไปทำจุดต่ำสุดที่ 243.97 จุด คิดเป็น 48.41% ภายในเวลาเพียง 2 เดือน
และหลังจากที่ SET INDEX ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ 1,789.16 จุด เมื่อเดือนมกราคม 2537
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็เปลี่ยนทิศทางเป็นขาลง หลังจากที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นมาตลอดช่วงเวลา18 ปี 9 เดือน โดยลงไปถึง 204.59 จุด ในเดือนกันยายน 2541 คือ ลงไปถึง 1,584.57 จุด หรือ 88.60% ภายในเวลาเพียง 4 ปี 8 เดือน ลองคิดเล่นๆ ดูสิครับ ว่าถ้าท่านอยู่ในตลาดหุ้นในช่วงเวลานั้น ชีวิตของท่านจะเป็นอย่างไร เงินลงทุนของท่าน สมมติว่า 1 ล้านบาท จะเหลือเพียง 114,000 บาท มีนักลงทุนที่ฆ่าตัวตายทั้งที่เป็นข่าว และไม่เป็นข่าวหลายคนเลยทีเดียว
สุภาษิตบทหนึ่งที่เขียนไว้เตือนใจนักลงทุนก็คือ “อย่าเอาไข่ใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว” เพราะว่ามันจะแตกง่าย ถ้าช่วงนั้นท่านนำทรัพย์สินทั้งหมดมาลงทุนในตลาดหุ้น ลองเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจในการลงทุนครั้งต่อๆ ไปของท่าน เพื่อให้การลงทุนของท่านมีความระมัดระวัง และรอบคอบมากขึ้น และลงทุนไม่เกินตัว
สำหรับนักลงทุนมาร์จิ้น ถ้าเจอสภาพแบบนี้เงินลงทุนของท่านจาก 1 ล้าน ซื้อหุ้นไป 2 ล้านบาท (ใช้วงเงินมาร์จิ้นจากโบรดเกอร์อีก 1 ล้าน) หุ้นตก 48.41 % เท่ากับขาดทุนไป 968,200 เมื่อบวกกับดอกเบี้ยเงินกู้มาร์จิ้น ท่านแทบจะไม่เหลือเงินเลย นั่นหมายถึงการสูญเงินลงทุนทั้งหมดที่ท่านอุตส่าห์อดออมมาจากน้ำพักน้ำแรง แทบจะสิ้นเนื้อประดาตัวกันเลยทีเดียว สาเหตุที่ SET INDEX ลงวินาศสันตะโรขนาดนั้น เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่เริ่มต้นจากประเทศไทย แล้วแพร่ระบาดไปในหลายๆ ประเทศใน ASEAN ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ แม้กระทั่งเกาหลีเองก็โดนผลกระทบวิกฤตนี้จนแทบจะไม่สามารถที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการเงินไว้ได้ ค่าเงินบาทที่เคยผูกไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐที่ 27 บาทต่อดอลลาร์ ก็อ่อนปวกเปียกจนไปถึงเกือบ 60 บาทต่อดอลลาร์
ผมจึงย้ำแล้วย้ำอีกว่า ควรจะมีการจัดสรรเงินลงทุนลงในสินทรัพย์หลายประเภท ซึ่งในหนังสือ “ออมจากน้อยเป็นร้อยล้าน” ผมได้เขียนถึงสินทรัพย์ในแต่ละประเภทที่ท่านควรจะลงทุนและสัดส่วนที่เหมาะสมของสินทรัพย์ในแต่ละประเภทตามช่วงวัย ขนาดของเงินลงทุน อุปนิสัยส่วนตัว ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง ฯลฯ คราวหน้าผมจะนำสถิติของ SET INDEX มาเล่าให้ฟังกันต่อในฉบับหน้าครับ
Kitichai Taechangamlert
ติดตามสาระดีๆ และแนวทางการลงทุนของผมได้ที่
https://www.facebook.com/VI.Kitichai
http://twitter.com/value_talk
หรือหนังสือ จาก 1 ล้านเป็น 500 ล้านผมทำอย่างไร