กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารุกต่อ ดัน SMEs ที่ผ่านการพัฒนาเกือบ 1.6 พันรายใช้ Crowd funding ระดมทุนทำธุรกิจ เผยเหมาะกับผู้เริ่มต้นทำธุรกิจแต่ไม่มีแหล่งเงินทุน ระบุเปิดโอกาสให้ขอทุนได้ทั้งแบบบริจาค ให้ผลตอบแทน และขอกู้แบบจ่ายดอก รวมทั้งขายหุ้น คาดเว็บไซต์ให้บริการจะเปิดได้ในเร็วๆ นี้ ก.ล.ต.ย้ำจะดูแลการระดมทุนด้วยการขายหุ้นก่อน
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เชิญสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาให้ความรู้ในเรื่องการระดมทุนผ่านวิธีการ Crowd funding เพราะกรมฯ เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ให้เข้าสู่ระบบธุรกิจ จึงต้องหาช่องทางใหม่ๆ ในการช่วยให้ SMEs ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเห็นว่าระบบ Crowd funding เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ที่เริ่มต้นทำธุรกิจมีโอกาสในการขยายธุรกิจได้
ทั้งนี้ กรมฯ จะผลักดันให้ธุรกิจที่อยู่ในการส่งเสริมและพัฒนาของกรมฯ จำนวนเกือบ 1,600 ราย ได้แก่ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก แฟรนไชส์ บริการลอจิสติกส์ การท่องเที่ยว สุขภาพ บริการด้านบัญชี สำนักงานบัญชีคุณภาพ ธุรกิจบริหารทรัพย์สิน ธุรกิจที่ได้รับรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น และธุรกิจสาขาต่างๆ ใช้ Crowd funding ในการระดมทุนทำธุรกิจ
“จะผลักดันให้พวกที่เริ่มต้นทำธุรกิจ แต่ไม่มีช่องทางอื่นในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ใช้ประโยชน์จาก Crowd funding ในการระดมทุน เพราะ Crowd funding สามารถระดมทุนได้หลากหลายวิธี ตั้งแต่ขอรับบริจาค โดยผู้บริจาคไม่ได้รับผลตอบแทน ระดมทุนโดยให้ผลตอบแทนเป็นสิ่งของหรือสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสินค้าที่จะผลิต หรือขอกู้ยืมเงินโดยจะคืนเงินและดอกเบี้ย รวมทั้งระดมทุนโดยให้ผลตอบแทนเป็นหุ้นหรือหุ้นกู้ ซึ่งมีหลากหลายวิธีที่จะช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า ระบบ Crowd funding ที่ใช้ในการระดมทุนจะทำผ่านเว็บไซต์ โดยมีบริษัทที่ให้บริการเป็นตัวกลางในการระดมทุน ซึ่งจะเรียกว่า Funding Portal โดยผู้ให้บริการต้องจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท และต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. มีเงินทุนจดทะเบียนชำระแล้วเท่ากับหรือมากกว่า 5 ล้านบาท โดย SMEs ที่ต้องการระดมทุนก็สามารถเข้าไปใช้บริการกับเว็บไซต์ที่มีผู้ให้บริการได้ ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีหลายบริษัทที่สนใจจะจัดตั้งและเปิดให้บริการ คาดว่าในเร็วๆ นี้น่าจะดำเนินการได้
นายธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและพัฒนา สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า การระดมทุนผ่าน Crowd funding ก.ล.ต.จะเข้าไปดูแลในส่วนของการระดมทุนที่ให้ผลตอบแทนเป็นหุ้นหรือหุ้นกู้ ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มต้นที่หุ้นก่อน โดย SMEs ที่ต้องการระดมทุนจะต้องเป็นบริษัทจำกัด ไม่เคยเสนอขายหุ้นต่อประชาชน มีแผนในการทำธุรกิจที่ชัดเจน และต้องมี Funding Portal เป็นผู้ดูแล
โดยการระดมทุนได้กำหนดวงเงินไว้ไม่เกิน 20 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนแรก และมีวงเงินการเสนอขายรวมได้สูงสุด 40 ล้าน ซึ่งผู้ที่สนใจลงทุนจะกำหนดลิมิตไว้ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อ 1 บริษัท หรือสูงสุด 5 แสนบาทในรอบ 12 เดือนเพื่อป้องกันความเสียหาย ซึ่งผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับก็แล้วแต่ว่าบริษัทที่ระดมทุนจะตั้งหรือกำหนดเงื่อนไขไว้อย่างไร ส่วนเงินที่ได้จากการระดมทุนจะถูกเก็บไว้กับ Escrow Agent ที่ได้รับอนุญาตเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
อย่างไรก็ตาม การระดมทุนที่นอกเหนือจากการระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้สนใจ ก.ล.ต.ไม่ได้เข้าไปดูแล แต่ Funding Portal ซึ่งเป็นผู้ที่ให้บริการเป็นคนกลางในการระดมทุนก็ต้องมีการคัดเลือกและประเมิน SMEs ที่เสนอแผนผ่านเว็บไซต์ของตัวเองในการระดมทุน เพราะหากมีผู้ที่เข้ามาหลอกลวงก็จะทำให้ผู้ให้บริการเสียชื่อเสียง แต่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นยากเพราะระบบมีการคุมเข้ม