สายการบินของไทยเร่งหารือด่วนวันนี้ แก้ไขผลกระทบ ICAO ระบุ บพ. ทำงานไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้หุ้นธุรกิจการบินร่วงยกแผง โบรกฯ ชี้เป็นผลกระทบแค่ในระยะสั้น หากระดับราคาหุ้นสายการบินปรับตัวลงมาก็เป็นโอกาสที่จะเข้าสะสมเพื่อลงทุน เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยยังเติบโตได้ดี
นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยว่า ในวันนี้ (31 มี.ค.) ผู้บริหารทุกสายการบินในประเทศไทยนัดหารือด่วนถึงแนวทางแก้ไขผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือน (บพ.) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เวลา 11.00 น. โดยมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจะต้องหามาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หลังจากนั้น เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็นำมาเสนอต่อรัฐบาล
สำหรับแนวทางที่บริษัทดำเนินการนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการสกัดกั้นความเสียหายที่เกิดขึ้น (Damage control) ซึ่งนกแอร์มีมาตรการป้องกันไว้แล้ว ส่วนนกสกู๊ตที่มีปัญหาเนื่องจากขยายเส้นทางบินไปเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน โดยตลาดญี่ปุ่น ที่มีผู้โดยสาร 2 หมื่นคนก็ใช้ไลเซนส์การบินสิงคโปร์ที่ถืออยู่ 51% ซึ่งหากที่นั่งไม่เพียงพอทางสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ก็พร้อมเข้ามาช่วย และทางญี่ปุ่นก็ยอมรับแนวทางนี้
ส่วนแนวทางที่สอง ผู้บริหารทุกสายการบินจะมาหารือกันเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของประเทศให้กลับมา โดยใช้มาตรฐานความน่าเชื่อถือของทุกสายการบิน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะมาเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งอาจจะแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดเวลา 8 เดือน
นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บล.กสิกรไทย กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจการบิน มองว่าเป็นผลกระทบแค่ในระยะสั้น หากระดับราคาหุ้นสายการบินปรับตัวลงมาก็เป็นโอกาสที่จะเข้าสะสมเพื่อลงทุน เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยยังเติบโตได้ดี
ขณะที่ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯ กรณีที่ ICAO ออกมาชี้ว่า บพ. ทำงานไม่ได้มาตรฐาน ญี่ปุ่นสั่งชะลอเพิ่มเที่ยวบิน ตามมาด้วยจีน-เกาหลีใต้ ไม่อนุมัติชาร์เตอร์ไฟลต์ไทยเข้าประเทศ ได้มองผลกระทบเป็นลบ โดยวานนี้ (30 มี.ค.) ฝ่ายวิจัยฯ ได้สอบถามไปยัง AOT, BA และ AAV ต่างบอกว่า ยังไม่ได้หนังสืออย่างเป็นทางการว่า การบินพลเรือนของจีนได้ห้ามเช่าเหมาลำหรือไม่ อย่างที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ประกาศก่อนหน้านี้ แต่ต้องรอดูว่าในที่สุดจะมีการประกาศเพิ่มหรือไม่
แม้ว่าเรื่องเช่าเหมาลำจะไม่กระทบต่อการบินที่เป็นตารางปกติ ซึ่งเป็นรายได้หลัก แต่ sentiment หากประเทศอื่นๆ จะประกาศเพิ่มตามมา ย่อมเป็นลบต่อการลงทุนในหลักทรัพย์ ในกรณีที่ผู้เดินทางมีความไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับการให้บริการของสายการบินของไทย ก็อาจจะมีการยกเลิกการเดินทางสำหรับตารางปกติ หรือการใช้บริการในอนาคตก็เปลี่ยนไปใช้คู่แข่งชาติอื่นได้ เพราะความปลอดภัยเป็นหัวใจของการเดินทางอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หลักทรัพย์กลุ่มท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น สนามบิน (AOT) และโรงแรม (MINT, CENTEL) ได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลักทรัพย์สายการบิน เพราะมีสายการบินชาติอื่นๆ ก็ยังสามารถขนส่งนักท่องเที่ยวต่างประเทศมายังไทย และมาใช้บริการหลักทรัพย์เหล่านี้ได้
ทั้งนี้ หุ้น AAV, AOT, BA ราคาร่วงลง โดยเมื่อเวลา 10.24 น. หุ้น AAV อยู่ที่ 4.88 บาท ลดลง 0.27 บาท (-5.24%) มูลค่าซื้อขาย 119.20 ล้านบาท
ด้านหุ้น AOT อยู่ที่ 276.00 บาท ลดลง 4.00 บาท (-1.43%) มูลค่าซื้อขาย 442.53 ล้านบาท หุ้น BA อยู่ที่ 19.90 บาท ลดลง 0.40 บาท (-1.97%) มูลค่าซื้อขาย 3.18 ล้านบาท