ศูนย์ข้อมูลฯ ชี้อสังหาฯ ไตรมาสแรกชะลอตัวทั้งยอดเปิดโครงการใหม่ และยอดขาย แต่เชื่อทั้งปีโต 5% จากปัจจัยหนุนดอกเบี้ยต่ำ น้ำมันถูก เศรษฐกิจโต ด้านบิ๊กพฤกษาฯ แนะเลิกเก็บภาษีที่ดินหวั่นกระทบคนซื้อบ้าน ขณะที่กสิกรไทยคาดจีดีพีปี 58 ลดเหลือ 2.8%
วานนี้ (23 มี.ค.) สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย จัดงานสัมมนาประจำปี 2558 เรื่อง “สถานการณ์ธุรกิจและการเงินที่อยู่อาศัยปี 2558” โดยนายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ 3 เดือนแรกปี 2558 ชะลอตัวเล็กน้อย ทั้งในแง่ของยอดเปิดโครงการใหม่ และยอดขาย โดยพบว่า การเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่คาดว่าสิ้นไตรมาส 1 จะมีประมาณ 8,000- 9,000 ยูนิต ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการเปิดตัวถึง 14,000-15,000 ยูนิต และคาดว่าทั้งปีน่าจะมีการโครงการคอนโดมิเนียมเปิดตัวใหม่ทั้งสิ้นประมาณ 65,000 ยูนิต ลดลงประมาณ 10% จากปีที่แล้วที่มีการเปิดตัว 73,000 ยูนิต
ส่วนโครงการบ้านจัดสรร หรือบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ มีอัตราการเปิดตัวโครงการใหม่ช่วง 3 เดือนแรกประมาณ 9,000 ยูนิต ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการเปิดตัวประมาณ 9,500 ยูนิต ทั้งนี้ คาดการณ์ทั้งปี 2558 จะมีโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบเปิดตัวใหม่ 45,000 ยูนิต ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว
ขณะที่ภาวการณ์ซื้อขายโครงการที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยดีเท่าที่ควร แต่ได้งานมหกรรมบ้านและคอนโด ที่มีแคมเปญส่งเสริมการขายช่วยกระตุ้นตลาดให้คึกคักขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ ยังมีปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นตลาด เช่น อัตราดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังเติบโต ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้จะเติบโตได้ประมาณ 5% นอกจากนี้ การที่ภาครัฐเร่งงานก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมเพื่อให้เปิดใช้ได้เร็วขึ้น ทั้งรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่เปิดให้บริการ ปี 2559 และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ที่จะเปิดให้บริการในปี 2560-2561 จะมีส่วนผลักดันทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์เอาไว้
บิ๊กพฤกษาฯ แนะเลิกเก็บภาษีที่ดินฯ หวั่นกระทบผู้ซื้อบ้าน
นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า จะส่งผลกระทบในแง่ลบต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และผู้บริโภคที่จะซื้อบ้าน เพราะมีผลทางจิตวิทยา ทำให้ต้องคิดก่อนจะซื้อบ้านว่าจะมีภาระภาษีเท่าไร ซึ่งการจัดเก็บภาษีฯควรมีอัตราที่เหมาะสม แต่ถ้าเสียภาษีปีละ ประมาณ 1,000 บาท น่าจะรับได้ ซึ่งต้องรอรายละเอียดที่ชัดเจนจากกระทรวงการคลัง
“มองว่าไม่เก็บภาษีฯ จะดีกว่า เพราะเป็นการส่งเสริมให้คนมีที่อยู่อาศัย ซึ่งถ้าตลาดที่อยู่อาศัยเติบโตก็จะได้ภาษีทางอ้อมเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว และทำให้มีเงินมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติม ขณะที่การเก็บภาษีที่ดิน มองว่าควรจะมีการจัดเก็บที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากกว่า และควรเก็บภาษีจากผู้ที่ขายที่ดินได้ เพราะถือว่ามีรายได้ ส่วนที่ดินที่ไม่ได้ขายไม่ควรจัดเก็บเพราะไม่มีรายได้” นายทองมา กล่าว
กสิกรปรับลดประมาณการณ์จีดีพีเหลือ 2.8%
ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ธนาคารฯ ได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2558 ลงเหลือ 2.8% และอาจมีแนวโน้มปรับลดลงได้อีกหากตัวเลขการส่งออกติดลบ หลังจากเมื่อปลายปีที่แล้วธนาคารได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4%
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาคือ ภาวะการเติบโตแบบชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ภาคการผลิตลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก ขณะที่เงินสินเชื่อที่ปล่อยออกไปก่อนหน้านี้ไม่สร้างผลผลิตเชิงเศรษฐกิจ ทำให้ต้องติดตาม ขณะเดียวกัน ราคาบ้านในจีนสะท้อนความเปราะบางของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย
ส่วนแนวโน้มค่าเงินยูโร ยังมีโอกาสจะอ่อนค่าลงไปอีกโดยอาจทดสอบระดับเท่าเทียม หรือต่ำกว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จากมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งยังต้องใช้เวลาหรืออาจขยายเวลาออกไปภายหลังจากก่อนหน้านี้ค่าเงินยูโรได้อ่อนค่าลงไปแล้วต่ำสุดในรอบ 12 ปี
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเป็นประเทศเดียวที่แข็งแกร่งที่สุด และล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้เลื่อนการขึ้นดอกเบี้ย แต่คาดว่าจะมีการพิจารณาอีกครั้งในเดือน ก.ย.นี้ และส่งผลทำให้ต่างชาติมีการถอนเงินลงทุนบางส่วนออกจากไทย รวมถึงผู้ประกอบการไทยมีการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าประเทศไทยจะไม่เผชิญปัญหาสภาพคล่องทางการเงินกระตุกตัว เนื่องจากฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล และทุนสำรองของไทยยังคงแข็งแกร่ง ฉะนั้นธนาคารมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังมีโอกาสเติบโต แต่มีประเด็นที่ยังกังวลคือ กลไกภาครัฐถูกคาดหวังจะมีการจัดการเลือกตั้ง ดังนั้น ให้เตรียมใจว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ไม่เกิน 5% และสภาพแวดล้อมทางการเงินโลกเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น คาดว่าภาคเอกชนจะเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายด้านการลงทุนมากขึ้น
ในขณะที่ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมีความระมัดระวังในการขยายการลงทุน เนื่องจากเข้าใจเรื่องการบริหารความเสี่ยงดีขึ้นกว่าในอดีตมาก และติดตามดูแลหากเริ่มมีการเปิดตัวโครงการใหม่เข้าสู่ตลาดมากเกินไป จะเลือกที่จะชะลอการเปิดตัวออกไปก่อน อีกทั้งฐานะการเงินของผู้ประกอบการแข็งแกร่งขึ้น กู้เงินจากธนาคารน้อยลง หันใช้ช่องทางการเงินอื่นที่ดอกเบี้ยถูกกว่า เช่น การระดมทุนในตลาดเงิน และอาศัยกำไรจากการดำเนินงานมาขยายธุรกิจ
ผู้ประกอบการมีการบริหารจัดการด้วยความระมัดระวังมากขึ้น พัฒนาสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ในภาวะหนี้ครัวเรือนสูงเช่นขณะนี้ ทำให้ผู้ประกอบการหันไปเปิดตัวโครงการระดับกลาง-บน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ภาระหนี้สินต่อรายได้ยังค่อนข้างต่ำ เป็นต้น ในขณะที่ผู้บริโภคอาจมองอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นโอกาสในการเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่ทั้งนี้ การซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้น การคาดหวังผลกำไรจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในภาวะดอกเบี้ยต่ำขณะนี้ ต้องไม่สร้างภาระให้แก่ตัวเองด้วย เนื่องจากอย่างไรก็ดี แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยภายในปลายปีนี้-ต้นปีหน้า เฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่นอน