ราคาทองคำในช่วง 7-8 วันที่ผ่านมา กลับมาอยู่ใน “ขาขึ้น” โดยราคาในประเทศเคลื่อนไหวระหว่าง 19,750-20,150 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท ขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลกทรงตัวอยู่ระดับประมาณ 1,308 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ การที่ธนาคารกลางหลายประเทศในโลกออกมา “ทำสงครามค่าเงิน” เพื่อพยุงค่าเงินของตนเองไม่ให้อ่อนค่า หรือแข็งค่าจนเกินไป ส่งผลโดยตรงต่อความเคลื่อนไหวราคาทองคำในตลาดโลก ทำให้คาดการณ์ว่า ราคาทองคำในประเทศระยะนี้น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 18,500-20,800 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท ส่วนราคาในตลาดโลกน่าจะเคลื่อนไหวระหว่าง 1,257.50-1,315.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ขณะเดียวกัน ต้องขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพราะระยะนี้มีโอกาสสูงที่เงินบาทจะผันผวนตามค่าเงินสกุลสำคัญหลายสกุล
ผู้เขียนขอเตือนนักลงทุนเกี่ยวกับความผันผวนระยะสั้นของราคาทองคำนั้นเกิดจากการขายทำกำไรของกองทุน SPDR โดยทยอยขายตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา แต่ก็มีแรงซื้อกลับเข้ามาในช่วงวันที่ 24-26 ที่ผ่านมา รวมถึงการทยอยซื้อสะสมจากธนาคารกลางในหลายประเทศ เพราะยังคงเห็นว่าการลงทุนในทองคำยังคงปลอดภัยที่สุด การที่ “กูรู” บางท่านออกมาแสดงความเห็นว่า ราคาทองจะอ่อนตัวลงไปแตะ 16,500 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาทนั้น ผู้เขียนมองว่า ภาพดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น เพราะการที่ FED จะยังคงดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอย่างแน่นอน ดังนั้น ทองคำจึงยังคงสถานะ “สินทรัพย์ปลอดภัย” ในระดับสูงต่อไป การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในระยะนี้ ถือเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า การปรับตัวของราคาทองคำนั้นไม่เกี่ยวข้องต่อความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันโดยสิ้นเชิง
ในที่สุด ชาวกรีซก็ได้ “ชี้ชะตา” ความอยู่รอดของประเทศเป็นที่เรียบร้อย โดยผลการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา โดยชาวกรีซเลือกพรรคไซริซา ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านเข้ามาเป็นผู้กำหนดนโยบายประเทศ ผลเลือกตั้งกรีซ กดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกเนื่องจากพรรคไซรีซา มีแนวความคิดต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดตามเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และสหภาพยุโรป หรือ EU นักลงทุนต่างวิตกกังวลว่ากรีซอาจไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ 2.4 แสนล้านยูโร หรือราว 2.69 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่กู้ยืมมาตั้งแต่ปี 2010 แม้จะไม่สามารถคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ก็ตาม แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลชุดใหม่อาจมีเรื่องขัดแย้งต่อกลุ่มเจ้าหนี้ และอาจส่งผลให้กรีซไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินอีก โดยเงินกู้ยืมจำนวนดังกล่าวจะเพียงพอถึงเดือนกรกฎาคม 2558 นี้ นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจของประเทศจะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หรือกรีซอาจจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน จนทำให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจระลอกใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนวิเคราะห์ว่า ท้ายที่สุดกรีซจะไม่ออกจากสมาชิกสหภาพยูโรป ดังที่หลายฝ่ายกังวล เนื่องจากการออกจากยูโรโซนนั้นส่งผลเสียมากกว่าผลดี ทั้ง หาสถาบันการเงินปล่อยกู้ยากมาก และจะไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้เงินกู้ได้ เป็นต้น ดังนั้น คงต้องจับตาการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลพรรคการเมืองฝ่ายค้านต่อไป
ฉบับนี้ ผู้เขียนจะวิเคราะห์ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2558 ที่จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือมาตรการ QE แบบปลายปิด ผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล และเอกชน จำนวน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ระยะเวลาทั้งสิ้น 19 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 ไปสิ้นสุดเดือนกันยายน 2559 คิดเป็นเม็ดเงินรวมทั้งสิ้น 1.14 ล้านล้านยูโร หรือราว 1.3 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐนั้น หากมองย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับเม็ดเงินที่ใช้ผ่านมาตรการ QE ของทางสหรัฐอเมริกา ที่ใช้อัดฉีดสภาพคล่องทางการเงินสู่ระบบเศรษฐกิจตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมกันถึง 3.5 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ก็เท่ากับว่าเม็ดเงินของสภาพยุโรปน่าจะ “เหลือ” เพราะการใช้จ่ายแบบ “ปลายปิด” นั้นสามารถกำหนด “ทิศทางของเงิน” ได้ว่าจะให้ไหลเข้าไปทางไหน
แน่นอนว่าเม็ดเงิน “ส่วนเกิน” มีแนวโน้มจะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาโดยตรง โดยไม่ผ่านมาตรการใดๆ นั่นเป็นการ “ตอบโจทย์” ว่า ทำไมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FOMC ครั้งแรกของปี 2558 วันที่ 27-28 มกราคม 58 นี้ จะยังไม่ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปจนถึงสิ้นปี 2559 แม้ว่าในการประชุมส่งท้ายปี 2557 เฟดได้ส่งสัญญาณว่าจะอดทน (Patient) ในการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED จะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี FED คงประเมินปัจจัยต่างๆ ที่เป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างระมัดระวัง ก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต
ประการแรก FED น่าจะรอประเมินผลของการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติมของธนาคารกลางขนาดใหญ่ เริ่มด้วยธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB อัดฉีดเงินผ่านมาตรการ QE วงเงิน 60 ล้านยูโรต่อเดือน และธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่ขยายขนาดมาตรการ QE ไปเมื่อปลายปี 2557 ส่งผลให้เกิดความแตกต่างระหว่างการดำเนินนโยบายการเงินของ FED กับธนาคารกลางขนาดใหญ่เหล่านี้มากขึ้น อาจส่งผลกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น และคงกดดันภาคการส่งออก รวมทั้งสถานะดุลการค้าสหรัฐฯ มีโอกาสปรับแย่ลง
ผู้อ่านคงทราบกฎเศรษฐศาสตร์ที่ว่า ค่าเงินแข็งจะกระทบต่อภาคการส่งออกเพราะสินค้าจะมีแพงขึ้น ขณะที่ภาคการนำเข้าจะดีเพราะเงินแข็งซื้อของได้มากชิ้น งานนี้ “หนัก” สำหรับ FED เพราะหากพิจารณาจาก “ทิศทางของเงินเฟ้อ” ที่มีความเสี่ยงที่จะปรับลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากผลของราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลง แต่ท่ามกลางสภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางก็อาจสร้างความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดภาวะเงินฝืดตามมาด้วยเหมือนกัน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ FED หลายท่าน ได้เริ่มออกมาสนับสนุนการรักษาระดับมาตรการการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบัน ไปจนกว่าแรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะมีสัญญาณในการกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมายของเฟดที่ 2%
ผู้เขียนจะขอเตือนว่า โลกกำลังเข้าสู่สงครามค่าเงิน ซึ่งไทยยากจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากคลื่นการเงินโลกที่ยังอยู่ใน “ภาวะผันผวน” อย่างต่อเนื่อง อีกครั้งหลังธนาคารกลางสวิส ประกาศยกเลิกนโยบายผูกค่าเงินสวิสฟรังก์กับยูโร ไว้ที่ 1.20 สวิสฟรังก์ กับ 1 ยูโร หลังดำเนินมา 3 ปี พร้อมกับประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75 % เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ตามด้วยธนาคารกลางเดนมาร์ก ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.15 % ลงไปที่ -0.20% เมื่อวันที่ 19 มกราคม โดยทั้ง 2 ประเทศมีเป้าหมายเดียวกันคือ ดูแลไม่ให้สกุลเงินของตนแข็งค่าเกินไปเมื่อเทียบกับยูโร
ขณะที่การเคลื่อนไหวของแต่ละสกุลเงินเทียบต่อดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่สิ้นปี 2557 ถึงวันที่ 20มกราคมนี้ พบว่า เงินยูโรอ่อนค่า -4.2% เยนแข็งค่า +1.2% เงินบาทแข็ง +0.4% วอนแข็งค่า +0.6% ดอลลาร์ไต้หวัน อ่อนค่า -0.1% ดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่า -0.9% เปโซแข็งค่า +0.3% รูเปีย์อ่อนค่า -1.6% ริงกิตอ่อนค่า -3.0% รูปีแข็งค่า 2.0% หยวนอ่อนค่า 0.2% ด่องแข็งค่า +0.1%
มา Update ภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย เริ่มที่จีน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ทั้งปี 2558 ของจีนไว้ที่ 6.8% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2533 ที่สถิติของจีนต่ำกว่า 7.0% ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และอันดับ 1 ของเอเชีย จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปทั้งภูมิภาคอย่างแน่นอน
ปัญหาที่เป็นตัวถ่วงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศจีนหลักๆ มี 2 ปัญหา คือ “ปัญหาหนี้ท้องถิ่น” จากการกู้นอกระบบ ซึ่งขณะนี้เสี่ยงต่อการเผชิญปัญหา “หนี้เน่า” ณ ปัจจุบัน จีนมีสัดส่วนหนี้สินสูงถึง 200% ต่อ GDP และ “ความซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์” ซึ่งยังไม่สามารถหาความสมดุลของการขยายตัวในระดับที่เหมาะสมของภาคอสังหาริมทรัพย์จีนได้เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จีน ใช้หลายมาตรการเพื่อสกัดกั้นภาวะ “ฟองสบู่” ในภาคอสังหาริมทรัพย์มาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนภาวะเงินฝืด และการปรับตัวลงของราคาน้ำมันก็ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงมาอยู่ที่ 1.5%
ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราส่วนปริมาณเงินสำรองของธนาคารถึง 2 ครั้ง รวม 0.5% เพื่อกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ แต่ก็จะส่งผลข้างเคียงให้เงินหยวนอ่อนค่างลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสหรัฐฯ โดยประเมินว่าค่าเงินหยวนจะอ่อนตัวลงมากกว่า 2% มาอยู่ที่ 6.35 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับจัดงบการปล่อยสินเชื่อให้แก่สถาบันการเงินต่างๆ มูลค่า 50,000 ล้านหยวนเพื่อนำไปปล่อยกู้แก่ภาคการเกษตร 30,000 ล้านหยวน และธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดเล็ก หรือ sme อีก 20,000 ล้านหยวน ถือเป็นการสนับสนุนสินเชื่อล็อตแรกของปี 2558 โดยมีการคาดการณ์ว่า วงเงินทั้งปีจะอยู่ที่ 880,000 ล้านหยวน ดังนั้นผู้เขียนคาดว่า ท้ายที่สุดธนาคารจีนจะพิจารณาชะลอการปรับลดอัตราส่วนปริมาณเงินสำรองของธนาคาร รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป
ปิดท้ายที่ญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาข้างเคียงจากการตัดสินใจปรับอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT จาก 5% เป็น 8% ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นเตรียมพิจารณาเพิ่มขนาดโครงการปล่อยกู้เพื่อส่งเสริมให้ธนาคารนำไปปล่อยกู่ต่อ แทนการขยายวงเงินผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือมาตรการ QE
ขณะที่สถานการณ์ในญี่ปุ่นยังคงต้องคำนึงเรื่องภาวะเงินเฟ้อ และความซบเซาทางเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นปัจจัยสำคัญ อีกทั้งการที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่รู้จักกันในชื่อ “อาเบะโนมิกส์” ยังไม่ค่อยได้ผลเท่าใดนัก โดย IMF คาดการณ์อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP สำหรับญี่ปุ่นในปี 2558 อยู่ที่เพียง 0.3% และ 1.0% ในปี 2559