xs
xsm
sm
md
lg

นายแบงก์แนะ ธปท.ส่งสัญญาณเรื่อง ดบ. ให้ชัดเจน หวั่นนักลงทุนมองเป็นขาลง กระทบลงทุนชะงัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สำนักวิจัย ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย แนะ ธปท. ส่งสัญญาณเรื่องดอกเบี้ยให้ชัด หวั่นนักลงทุนมองเป็นขาลงหลังปรับลดไป 0.25% เตือนอาจทำให้การลงทุนชะงักงัน

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นห่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้า โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการที่นักลงทุนภาคเอกชนยังไม่มีความเชื่อมั่นที่ดีต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความต่อเนื่องของนโยบายการลงทุนภาครัฐ อีกทั้งล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอาจส่งสัญญาณให้นักลงทุนเข้าใจผิดว่าดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ทำให้การลงทุนชะงักงันได้

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กนง.ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา และจากสถิติที่ผ่านมา หาก กนง.ปรับลดดอกเบี้ยเมื่อไหร่มักจะได้เห็น กนง.ปรับลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป หรือเป็นการปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในระยะใกล้กัน ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่า อาจจะได้เห็น กนง.ปรับลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งในการประชุมวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงมาเหลือร้อยละ 1.50

นายอมรเทพ กล่าวว่า แม้ส่วนตัวยังไม่เห็นด้วยต่อการลดดอกเบี้ยคราวก่อน และกังวลต่อประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ยว่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างจำกัด แต่ภาวะเช่นนี้อาจเป็นไปได้ที่ กนง. คงมีเหตุผล และข้อมูลมากกว่านักวิเคราะห์ทั่วไป นอกจากนี้ ยังวิตกว่าถ้าดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 1.50 แล้ว เกิดเศรษฐกิจซบเซา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังเหลือกระสุนเพียงพอหรือไม่ เพราะจากสถิติ ธปท.ยังไม่เคยลดดอกเบี้ยลงต่ำกว่าร้อยละ 1.25 ซึ่งครั้งนั้นเศรษฐกิจไทยถดถอยตามปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2552 ประเด็นนี้มองว่า อาจได้เห็นนโยบายการเงินรูปแบบใหม่ คือ กรณีถ้าปัจจัยต่างประเทศรุมเร้า เศรษฐกิจจีนชะลอ ปัญหารัสเซียยังไม่จบ เกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ อาจทำให้ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก และลงมาต่ำกว่าร้อยละ 1.25 เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ การประชุม กนง.รอบที่แล้วนโยบายการเงินขยับจากกองหลังขึ้นมาเป็นกองกลาง ประชุมรอบถัดไปอาจขยับขึ้นมาเป็นกองหน้า ถ้าโชคร้ายเกิดวิกฤตอาจจะได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น เป็น ‘a new normal stage’ ของ ธปท.

นายอมรเทพ กล่าวว่า เมื่อตลาดคาดการณ์ว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดอีกครั้ง นักลงทุนอาจจะยิ่งชะลอการลงทุน เพราะหวังต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง ซึ่งจะมีผลให้การลดดอกเบี้ยครั้งก่อนไม่มีประสิทธิผลได้ หวังว่าทาง ธปท.จะส่งสัญญาณให้ชัดเจนในส่วนของทิศทางอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจของนักลงทุน ขณะเดียวกัน เอกชนไม่ควรรอภาครัฐให้นำร่องการลงทุนเพียงอย่างเดียว เพราะหากรอความชัดเจนในการก่อสร้าง การเบิกจ่าย และความต่อเนื่องในแผนการลงทุนระยะยาวมากเกินไปอาจทำให้เสียโอกาสในการลงทุน ต้นทุนทางการเงินอาจปรับสูงขึ้น หรือสภาพคล่องอาจลดลงหากสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย และเกิดภาวะเงินไหลออก อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัยฯ คาดว่า กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 29 เมษายน เพื่อดูผลจากการลดดอกเบี้ยครั้งก่อน และอาจมีการปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุม กนง.วันที่ 10 มิถุนายน หากจีดีพีไตรมาส 1 ปี 2558 ที่จะประกาศออกมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 ออกมาแย่กว่าคาด

อย่างไรก็ตาม ด้านค่าเงินบาท ปัจจัยที่ยังทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสหรัฐฯ คือ การนำเข้าหดตัวจากราคาน้ำมันที่ลดลง ความต้องการเงินเหรียญสหรัฐจึงน้อยลง การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นการพาเงินบาทเข้าสู่สงครามค่าเงินเต็มตัว และจะได้เห็นการต่อสู้กันของค่าเงินสกุลต่างๆ อีกพักใหญ่ แต่ที่น่าจับตา คือ หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ สงครามค่าเงินจะลดความร้อนแรงลง เพราะได้อานิสงส์จากเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ไปสู่สหรัฐฯ ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีอาจได้เห็นดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปรับขึ้นได้ในเดือนกันยายนนี้ และหากทางการดูแลค่าบาทให้อ่อนค่าเพื่อดูแลภาคส่งออก มีความเสี่ยงที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่ามากเกินกว่าที่คาดหวัง จึงคาดว่าจะได้เห็นค่าบาทอ่อนค่าไปถึง 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมเคยคาดการณ์ไว้ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

“นอกจากความวิตกว่ากระสุนจะเพียงพอไหม เรายังห่วงว่าสภาพเครื่องยนต์จะกระตุกหรือเปล่า เศรษฐกิจไทยมองไปทางไหนเจอแต่ความท้าทาย งบประมาณภาครัฐล่าช้า รายได้ภาคเกษตรตกต่ำ ความเชื่อมั่นทุกภาคส่วนยังไม่ฟื้น ความหวังของเศรษฐกิจไทย นอกจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว คงหวังภาคเอกชนให้เร่งลงทุน หรือออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อหาโอกาสใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า” นายอมรเทพ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น