xs
xsm
sm
md
lg

"จับเข่าคุยเจ้าสัวชาเขียว"

เผยแพร่:

เอ่ยชื่อ "ตัน ภาสกรนที" คงไม่มีที่ไม่รู้จัก เพราะถือได้ว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในปัจจุบันจากการทำโปรโมชั่นตลาดเครื่องดื่มชาเขียว แบบที่ไม่มีใครกล้าเลียนแบบที่จะทำได้ จนสามารถทำยอดขายมาเป็นอันดับ 1 ในเครื่องดื่มประเภทชาเขียวพร้อมดื่มบรรจุขวด ที่ยังสามารถรักษาฐานส่วนแบ่งการตลาดด้วยสัดส่วนสูงถึง 43.8% ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน



สิ่งหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ชาเขียวอิชิตัน มียอดขายพุ่งกระฉุดเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ เพราะเจ้าของแบรนด์สินค้ามีการลองผิดลองถูกในการสำรวจตลาดพฤติกรรมการบริโภคชาเขียวของคนไทยว่ามีรสชาติแบบไหน ถึงถูกคอถูกใจมากที่สุด เพื่อพัฒนาผลิตภัณพ์ให้ตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่เท่ากับการทำการตลาดโปรโมชั่นแบบ "สุดซอย" ยากที่แบรนด์อื่นจะสามารถทำได้ ด้วยเหตุผลง่ายๆที่คนไทยมีความชื่นชอบการเสี่ยงดวง เสี่ยงโชค ได้ลุ้นรางวัล (ล็อตเตอรี่ซื้อมาลุ้นรางวัล ถ้าไม่ถูกก็ทิ้ง แต่ชาเขียวลุ้นรถ ลุ้นทอง ลุ้นโทรศัพย์แล้วยังแก้หิวน้ำได้) ทำให้แบรนด์สินค้าในกลุ่มประเภทเครื่องดื่มชาเขียว เครื่องดื่มบำรุงกำลัง หรือแม้แต่เครื่องดื่มประเภทอื่นๆก็พยายามที่จะ "เอาอย่าง" ด้วยการออกโปรโมชั่น แจกสารพัดสินค้าที่สามารถสร้างแรงจูงใจต่อผู้บริโภคได้ เพื่อสร้างรายได้ยอดขาย และ มาเก็ตแชร์เหนือคู่แข่ง จนแทบจะกลายเป็นสงครามชาเขียวกันเลยทีเดียว

"ยุคทองของชาเขียว" คงไม่ผิดนัก หากพิจารณาจากการนับจำนวนยอดขายเครื่องดื่มชาเขียว ที่ผลิตออกมาต่อปีมากถึง 1,000 ล้านขวด และ 200 ล้านกล่องต่อปี ซึ่งบริษัทฯใช้กำลังการผลิตไปเพียง 80% เท่านั้น เพราะถ้าเพิ่มกำลังการผลิตถึง 100% ก็จะผลิตได้ถึง 1,200 ล้านขวด/ปี นี่เฉพาะของอิชิตันอย่างเดียว ยังไม่รวมแบรนด์อื่น หากรวมกันทั้งตลาดจะมีปริมาณและมูลค่าเป็นจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่ "เจ้าสัวชาเขียว" จะตั้งเป้ารายได้รวมปีนี้ไว้ที่กว่า 7,500 ล้านบาท (ยังไม่นับรวมส่วนแบ่งการตลาดรายได้จากน้ำส้มไม่อัดลมแบรนด์ไบเล่ที่เข้าซื้อกิจการในปีที่แล้ว และสามารถเริ่มเดินสายพานการผลิตได้ในปีแรกนี้ซึ่งตั้งเป้ารายได้ไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท) ไหนจะมีในส่วนของการรับจ้างผลิต(OEM) อีกกว่า 120 ล้านบาท และการเริ่มลุยตลาดต่างประเทศอย่างจริงจังรองรับการเปิดเสรีการค้าอาเซียนไปยังประเทศเพื่อนบ้านเช่น พม่า, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และจีน ซึ่งประมาณการรายได้คร่าวๆอีกไม่น้อยกว่า 280 ล้านบาท บวกกับช่วงหน้าร้อนประเทศไทย (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม) ที่เครื่องดื่มทุกประเภทขายดีเป็นเทน้ำเทท่าช่วยหนุนให้ยอดขายโตเป็นพิเศษกว่าช่วงอื่นๆถึง 15-20% และถ้าหากมีโปรโมชั่นทางเลือก "ดับกระหายได้เบนซ์" ด้วยแล้วยิ่งจะทำให้สินค้าในเครือที่ร่วมรายการทั้งหมดมียอดขายชนิดอาจก้าวกระโดดไปถึง 30% ซึ่งถ้าหากเทียบกับงบการตลาดที่ใช้ไปเพียง 10% ถือว่ารายได้ที่เข้ากระเป๋าเงินมาในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น คุ้มค่ามาก

"ประกันความเสี่ยง ชาเขียวหมดเทรน" ไม่มีใครสามารถคาดคะเนได้ว่าความนิยมในเครื่องดื่มชาเขียว วันใดวันนึง จะลดน้อยลงเมื่อไหร่ ซึ่งถ้าหากเทียบสัดส่วนการขายของเครื่องดื่มชาเขียวอิชิตันในประเทศประมาณ 98% ต่างประเทศเพียง 2% เท่านั้น ส่วนใหญ่จะส่งข้ามผ่านชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เขมร พม่า ซึ่งนับวันความต้องการของตลาดชาเขียวจะเติบโตมาขึ้นตามเทรนการตลาดของโลก โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคชาเขียวพร้อมดื่มจำนวนมาก มูลค่าตลาดเครื่องดื่มชาเขียวสูงถึงกว่า 75,000 ล้านบาท จึงกลายเป็นขุมทองคำของการทำธุรกิจชาเขียวพร้อมดื่ม ทำให้อิชิตัน ต้องปักธงยึดหัวหาด อินโดฯ โดย บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป จับมือร่วมทุนกับ บริษัท พีที อาทรี่ แปซิฟิค จำกัด ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีบริษัท มิตซูบิชิ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ร่วมถือหุ้น ก่อตั้งเป็นบริษัทฯ บริษัท อิชิตัน อินโดนีเซีย เพื่อสร้างโรงงานฐานการผลิตใหญ่ในต่างประเทศและจำหน่ายเครื่องดื่มชาเขียวในประเทศอินโดนีเซีย ทำให้อิชิตันมีรายได้จากต่างประเทศอย่างชัดเจนแน่นอนไม่น้อยกว่า 800-1,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากแนวโน้มชาพร้อมดื่มในต่างประเทศเติบโตต่อเนื่อง อนาคตอาจได้เห็นโรงงานอิชิตันไปตั้งฐานการผลิตในประเทศจีน ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป้าหมายรายได้ 10,000 ล้านบาท/ปี ในอีก 3 ปีข้างหน้า คงไม่ไกลเกินฝัน ทำให้ "เจ้าสัวชาเขียว" เกษียณอายุตัวเองในปี 2560 ได้อย่างสบายใจ

"มาตรการควบคุมเครื่องดื่มชาเขียว" อาจเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้ผลิตหลายแบรนด์ที่ต้องสะอึก เพราะจากเดิมที่มีเพียง "มาตรการทางภาษี" เท่านั้น แต่เมื่อหน่วยงานที่กำกับดูแลทางด้านสุขภาพต้องลงมาเล่นเอง เนื่องจากผลการสำรวจผลกระทบด้านสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาโรคอ้วน และเบาหวาน เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วชนิดที่ตั้งรับไม่ทัน และโรคอื่นๆที่พ่วงตามมาด้วย ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่รัฐต้องแบกรับตามมาเป็นจำนวนเงินมหาศาลต่อปี จึงอาจกลายเป็นวาระแห่งชาติในอนาคตอันใกล้ ที่ทั้งผู้ประกอบการต้องมีจิตสำนักใส่ใจต่อสุขภาพผู้บริโภคมากขึ้น และผู้บริโภคเองก็ต้องตระหนักถึงปัญหาสุขภาพและผลกระทบที่จะตามมามากกว่าการเสี่ยงลุ้นโชค.....ที่ไม่รู้ว่าจะคุ้มค่าหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น