xs
xsm
sm
md
lg

ผนึกหุ้น “มาเลย์-สิงคโปร์-ไทย” นำร่องตลาดทุนอาเซียน “วรพล” คาดดีเดย์ Q3 ปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.ล.ต. 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย-มาเลย์-สิงคโปร์ เตรียมอนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และเข้าจดทะเบียนระหว่างกัน “วรพล” คาดดีเดย์ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ระบุการลงนามใน MOU ครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จของกลุ่มหน่วยงานกำกับตลาดทุนอาเซียนในการส่งเสริมการระดมทุน และยกระดับตราสารทางการเงินในภูมิภาค ให้เป็นที่ยอมรับของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งข้อตกลงนี้จะปูทางสู่การเชื่อมโยงตลาดทุนในอาเซียน และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อให้กระบวนการพิจารณาคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่เปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลอาเซียน สามารถกระทำได้รวดเร็วขึ้น (Streamlined Review Framework for ASEAN Common Prospectus) ในระหว่างการประชุมกลุ่มหน่วยงานกำกับตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum : ACMF) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

การลงนามในบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการออกและเสนอขายตราสารทุนและตราสารหนี้แบบไม่ซับซ้อนพร้อมกันในกลุ่มประเทศที่เป็นภาคี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแผนปฏิบัติการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนขอกลุ่มหน่วยงานกำกับตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum’s Implementation Plan) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน เมื่อปี 2552

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การลงนามใน MOU ครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จของกลุ่มหน่วยงานกำกับตลาดทุนอาเซียนในการส่งเสริมการระดมทุนและยกระดับตราสารทางการเงินในภูมิภาคให้เป็นที่ยอมรับของนักลงทุนทั่วโลก (ASEAN asset class) ซึ่งข้อตกลงนี้จะปูทางสู่การเชื่อมโยงตลาดทุนในอาเซียน และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็น 3 ประเทศแรกในอาเซียนที่ลงนามใน MOU และคาดหมายว่าในอนาคตก็จะมีประเทศสมาชิก ACMF มาเข้าร่วมลงนามได้อีกเพิ่มเติม

ภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว ผู้ออกหลักทรัพย์จะต้องเปิดเผยข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานกลางอาเซียนที่ได้ประกาศใช้ร่วมกัน (ASEAN disclosure standards) โดยประเทศที่ทำหน้าที่หลักในการกำกับดูแล (Home Authority) จะพิจารณาคุณสมบัติ และความครบถ้วนของข้อมูลที่เปิดเผย ประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลในอีกประเทศหนึ่งที่จะมีการเสนอขายหลักทรัพย์พร้อมกัน (Host Authority) และแจ้งผลการพิจารณาภายใน 3-4 เดือนนับจากวันที่ยื่นคำขอ และเอกสารครบถ้วน ซึ่งกระบวนการพิจารณาอนุญาตที่รวดเร็วขึ้น และลดความซ้ำซ้อนนี้จะช่วยให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์สามารถวางแผนงานการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ การอนุญาตการเสนอขายหลักทรัพย์ หรือขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ระหว่างกันในอาเซียนนี้จะเริ่มได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยระหว่างนี้ ACMF จะร่วมกันจัดทำคู่มือเพื่อเป็นแนวทางให้แก่ภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการในด้านต่างๆ กระบวนการพิจารณา กรอบระยะเวลา และคุณสมบัติของผู้เสนอขายหลักทรัพย์
กำลังโหลดความคิดเห็น