xs
xsm
sm
md
lg

คาด “ไพร์มารี ลิสติ้ง” คลอดทัน Q4 ปีนี้ “ก.ล.ต.” จุดพลุ Crowd funding ผ่าทางตันตลาดหุ้น และก้าวเข้าสู่ยุค digital economy

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.ล.ต. คาดคลอดเกณฑ์ “ไพร์มารี ลิสติ้ง” ไตรมาส 4/58 ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยมีความมุ่งหวังที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการระดมทุนในภูมิภาค แย้มธุรกิจรูปแบบใหม่ที่จะระดมทุนในรูปแบบของ Crowd funding หรือการระดมทุนสาธารณะ โดยการรวบรวมทุนจากผู้คนจำนวนมากเพื่อนำมาใช้ประโยชน์สนับสนุนโครงการต่างๆ ทั้งเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ หรือเพื่อช่วยเหลือสังคม ช่วยผ่าทางตันโครงสร้างตลาดทุน และเป็นการก้าวเข้าสู่ยุค digital economy

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คาดกฎเกณฑ์การนำบริษัทต่างประเทศมาจดทะเบียนโดยตรง (ไพร์มารี ลิสติ้ง) ผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย (ตลท.) จะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/58 ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ ก.ล.ต.มีความมุ่งหวังที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการะดมทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS) ซึ่งสิ่งสำคัญคือ จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการที่บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาระดมทุนในประเทศไทยได้โดยสะดวก

นอกจากนั้น ตลาดหุ้นไทยยังควรจะต้องสามารถซื้อขายด้วยสกุลเงินที่มีความหลากหลาย โดยในช่วงปลายปี 57 ก.ล.ต. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้อบต้น (MOU) กับ Bank of China ขณะเดียวกัน ก็ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อที่จะให้นักลงทุนสามารถซื้อขายเป็นสกุลเงินอื่น นอกเหนือจากเงินบาท โดยอาจเริ่มต้นที่เงินสกุลหยวน และต่อไปก็อาจจะซื้อขายด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทาง ก.ล.ต. คาดหวังว่าจะเห็นการซื้อขายในสกลุเงินอื่นได้ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนจากนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของ ธปท.ในเรื่องระบบการชำระเงินด้วย

“เรามุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์การในการระดมทุนของหลายๆ ประเทศ โดยเราต้องทำให้นักลงทุนสนใจ ทำให้ตลาดทุนไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ในขณะเดียวกัน การซื้อขายด้วยสกุลเงินอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อที่จะให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้คล่องตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ MOU กับ Bank of China เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เราก็คาดว่าคงจะได้ซื้อขายหุ้นเป็นสกุลเงินหยวนก่อน และหลังจากนั้น คงเป็นสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งตอนนี้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความพร้อมแล้ว ส่วนที่เหลือจะต้องรอทางแบงก์ชาติ เรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ” นายวรพล กล่าว

สำหรับความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยในสายตาต่างชาตินั้น ก.ล.ต. คาดรัฐวิสาหกิจจะสามารถเข้ามาระดมทุนในรูปแบบกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เป็นแห่งแรก คือ กองทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยคาดว่าจะสามารถเข้ามาระดมทุนในช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ ปัจจุบันขั้นตอนดำเนินการคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% เบื้องต้นคาดมูลค่าระดมทุนราว 2 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 1 กองทุนโครงสร้างพื้นฐานของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT)

นายวรพล กล่าวถึงโอกาสสร้างทุนสำหรับธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมถึงกิจการเกิดใหม่ที่จะระดมทุนในรูปแบบของ Crowd funding หรือการระดมทุนสาธารณะ โดยการรวบรวมทุนจากผู้คนจำนวนมากเพื่อนำมาใช้ประโยชน์สนับสนุนโครงการต่างๆ ทั้งเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ หรือเพื่อช่วยเหลือสังคม ขั้นตอนทั่วไปคือ ผู้ที่ต้องารระดมทุนมีการนำเสนอผลงาน ผลิตภัณฑ์ หรือโครงการที่จะต้องทำผ่านเว็บไซด์ที่เป็นสื่อกลาง และระบุวงเงินที่ต้องการ หากเป็นที่ถูกใจของประชาชน Crowd ก็จะได้รับเงินลงทุนเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือโครงการตามที่ได้เสนอไว้

ทั้งนี้ การระดมทุนอาจมี 4 ลักษณะ คือ แบบที่ 1.donation คือ ผู้ลงทุนบริจาคเงินให้แก่ผู้ประกอบกิจการ โดยผู้ลงทุนจะไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ตอบแทน เว้นแต่อาจจะได้รับผลประโยชน์ในแง่ของการลดหย่อนภาษี แบบที่ 2.Reward คือ กรณีที่ผู้ประกอบกิจการระดมทุนจากผู้ระดมทุน โดยเสนอผลตอบแทนเป็นสิ่งของ หรือสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสินค้าที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการผลิตในอนาคต โดยสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะไม่รวมถึงสิทธิที่ได้รับจากส่วนแบ่งกำไรที่ผู้ประกอบกิจการได้รับ

ส่วนแบบที่ 3.Lending คือ ผู้ประกอบการกิจการระดมุทนจากผู้ลงทุน ในทำนองเดียวกับการของกู้ยืมเงินจากผู้ลงทุน หรือมีการเสนอตราสารหนี้เพื่อตอบแทนการลงทุน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการกิจการจะคืนเงิน และดอกเบี้ย (ถ้ามี) เมื่อถึงเวลาตามที่กำหนดไว้ และสุดท้าย แบบที่ 4.Equity คือ กรณีที่ผู้ประกอบการกิจการระดมทุนโดยเสนอผลตอบแทนในรูปแบบหุ้นของบริษัท หรือการเป็นหุ้นส่วนของกิจการให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งทาง ก.ล.ต. ได้เข้ามาดูในเรื่องของกฎเกณฑ์ต่างๆ ในส่วนสุดท้ายนี้เป็นหลัก

“Crowdfunding เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้มีแนวความคิดใหม่ๆ และมีความคิดดี ไอเดียดี ที่ไม่เงินทุนในการขยาย หรือต่อยอดความคิดของตัวเอง เข้ามาหาแหล่งเงินทุนในหลายๆ รูปแบบ ซึ่งทาง ก.ล.ต. ได้เข้ามาช่วยในการสนับสนุนเพื่อที่จะให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต เพราะปัจจุบันค่าแรงของไทยค่อนข้างสูง และมีต้นทุนการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านคงยาก เราจึงหันมาสนับสนุนเรื่องนี้เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันได้ รวมถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเป็นการก้าวเข้าสู่ digital economy เพระทุกคนเห็นอยู่แล้วว่าในอนาคต digital economy ต้องมา ซึ่งการที่เราทำแบบนี้เพื่อต้องการสนับสนุนภาพในอนาคตด้วย” นายวรพล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น