xs
xsm
sm
md
lg

รีเมก “บางระจัน” CG ห่วยแตก-โปรโมตยัดเยียด-บิดเบือนประวัติศาสตร์!!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เงิบ! ทันทีที่ละครพีเรียดฟอร์มยักษ์ เรื่อง ‘บางระจัน’ ออกอากาศตอนแรก เกิดกระแสโหมกระหน่ำอย่างรุนแรงสะท้อนกลับมา สังคมออนไลน์พร้อมใจทวีตติดแฮชแท็ก #บางระจัน จนติดอันดับยอดนิยม แต่กลับกลายเป็นกระแสติมากกว่าชม! แม้แต่แฟนเพจยอดนิยมยังปรามาสว่าช่าง “กะหล่งป๊งสิ้นดี”



 
ยัดเยียดมากไป จนฟีดแบ็กลบ!
 
 
ปะทุเดือดเกี่ยวกับละครรีเมกอีกครั้ง เมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ละคร “บางระจัน” ที่ออกอากาศทางช่อง 3 เมื่อออกอากาศตอนแรก วันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา โดนชาวเน็ตถล่มเละ โดยได้ให้เหตุผลว่าละคร “บางระจัน” ที่นำมารีเมกใหม่นี้มีการโปรโมตแบบยัดเยียดเกินไป, ภาพ CG ห่วยแตก, เนื้อหาที่ควรจะเป็นก็ผิดเพี้ยนบิดเบือนประวัติศาสตร์ไปจากเดิมอย่างมาก เช่น เนื้อหาเค้าโครงเดิมนำเสนอวีรกรรมปกป้องหมู่บ้าน แต่เมื่อดูแล้วกลับกลายเป็นการปกป้องชาติ
 
 
ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียต่างร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ทั้งในสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ พร้อมใจติดแฮชแท็ก #บางระจัน จนติดอันดับแฮชแท็กยอดนิยม โดยทุกข้อความต่างเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาละครที่มีภาพรวมออกมาเช่นนั้น จนเกิดเป็นปรากฏการณ์แฮชแท็ก #บางระจัน ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์





 
 
บ้างก็ว่าเนื้อหาบิดเบือนประวัติศาสตร์ไปจากเดิม “จากโปรโมต #บางระจัน "ใครดูเรื่องนี้ต้องน้ำตาซึม" ... ซึมแน่ ก็เล่นบิดเบือนประวัติศาสตร์ จากวีรกรรมการปกป้องหมู่บ้านตัวเอง กลายเป็นปกป้องชาติ” ข้อความจาก @meVnus
 
 
บ้างก็ว่าเป็นเรื่องไม่สมจริง “ตัวละครหญิงในเรื่อง #บางระจัน #Ch3 ผมตรงเรียบสวยเชียว สมัยนั้นไปสระไดรที่ไหนกัน” ข้อความจาก @digitalnext
 
 
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกกระแสที่มองว่าละครเรื่องนี้โปรโมตแบบยัดเยียดจนเกินไป จนทำให้เกิดความน่ารำคาญและไม่อยากดู “โปรโมตหนักๆ ระวังจะเงิบนะ #บางระจัน นี้ดูโปรโมตจนเข้าใจเรื่องละ ฉายจริงคงไม่จำเป็นต้องดู #ch3” ข้อความจาก @b_d29 Jan 3, “เฮ้ย #บางระจัน ยังไม่ฉายอีกเหรอ นึกว่าจะอวสานแล้ว ยิงโฆษณาถี่ไปป๊ะ” ข้อความจาก @iXnore Jan 5
 
 
“อ่านแท็ก #บางระจัน แล้วก็เห็นด้วยนะที่โฆษณาเยอะเกินไป นี่ก็รำคาญเหมือนกัน จะไม่ดูก็กลัวจะกลายเป็นคนเนรคุณชาติไปซะอีก อวยซะขนาดนี้ 555555555” ข้อความจาก @wpploybtf, “รู้สึกรำคาญการสะกดจิตให้ #บางระจัน เป็นกระแสของช่องสาม อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดี อะไรที่ยัดเยียดเกินไปก็ไม่ดู (ไม่ต้องมาด่านะ) #ch3” ข้อความจาก @MissOliviaUSA
 
 
ทางด้านสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กเอง ผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อยต่างแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ สับเละวิจารณ์ทั้งเรื่อง กล่าวว่า คำพูดบางประโยคที่ไม่เหมาะสมกับบริบทของสังคมในยุคนั้น ทั้งยังความไม่สมจริงของนักแสดงประกอบบางคนที่ใส่เหล็กดัดฟันเข้าฉากอีกด้วย
 
 
ส่วนด้านแฟนเพจยอดนิยม ‘อีเจี๊ยบ เลียบด่วน’ ก็ร่วมดรามากับเขาด้วย โดยโพสต์จั่วหัว “นี่รึ ละครอิงประวัติศาสตร์ ฟอร์มยักษ์ ที่เอ็งพร่ำป่าวประกาศ ให้รอชมทุกครึ่งชั่วยาม กะหล่งป๊งสิ้นดี” แน่นอนว่ามีลูกเพจถล่มไลค์เห็นพ้องมากกว่า 27,000 คน





 
 
เล่าแบบเดิมๆ รู้ไหม น่าเบื่อ!
 
 
จากเหตุดรามานี้เองทางทีมข่าว ASTV ผู้จัดการLive จึงได้สอบถามความคิดเห็นไปยัง ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) เพื่อให้ช่วยวิเคราะห์ปรากฏการณ์ในโลกออนไลน์ในครั้งนี้ ซึ่งผู้ถูกถามกลับมีความเห็นในมุมมองที่ต่างจากชาวโซเชียลมีเดีย และไม่อยากให้มองว่าละคร ‘บางระจัน’ ทำบิดเบือนไปจากความจริง เพราะเนื้อเรื่องมันต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอยู่แล้ว
 
 
“ในกรณี ‘บางระจัน’ มันผลิตซ้ำมาหลายครั้งหลายหนแล้วนะ และแต่ละครั้งก็สังเกตได้ว่าเนื้อหาแทบจะไม่ซ้ำกันเลย แต่ว่าโครงเรื่องหลักๆ 60 เปอร์เซ็น ก็ยังคงเป็นเรื่องเดียวกันอยู่ เพราะฉะนั้น ผมอยากให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ ลองเปรียบเทียบกับละครอิงประวัติศาสตร์หรือภาพยนต์อิงประวัติศาสตร์ดู
อย่างเรื่อง สมเด็จพระนเรศวร หรือว่าสมเด็จพระศรีสุริโยทัย อันนี้มีความเข้มข้นในเรื่องอิงประวัติศาสตร์สูง เพราะว่าผู้จัดทำละครใช้หลักฐานพงศาวดารเป็นตัวตั้งต้นในการเขียนบท และต้องเข้าใจว่าเรื่อง ‘บางระจัน’ เป็นตำนาน เป็นนิทาน เรื่องเล่าจากปากสู่ปาก เพราะฉะนั้น มันเลยไม่ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดาร ผู้จัดทำเลยมีสิทธิ์ที่จะตีความ เหมือนกับตอนที่เราดูเรื่องแม่นาคไง ที่ทำได้หลายเวอร์ชั่น ทั้งผี, ตลก, รักโรแมนติก, ดรามา, ลูกทุ่งละครเพลงก็ยังมีเลยนะ”



 
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมออนไลน์ มองว่าในยุคของกาลสมัยที่เปลี่ยนไปนี้ คนเราต้องรู้จักประยุกต์ ปรับเปลี่ยน เนื้อหาของละครให้เข้ากับวัฒนธรรมในปัจจุบัน เพื่อที่ละครในยุคเก่าๆ จะได้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง
 
 
ทำไมเราไม่เอาละครบางระจัน ที่เป็นภาพยนต์ไทยแต่ก่อนเอามาฉายให้คนสมัยนี้ดูล่ะ ก็เพราะว่ามันทำแบบนั้นไม่ได้ไง เพราะในยุคของคนดูมันเปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้น ผู้จัดละครสามารถที่จะให้ละครมีมุมมองการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ คือลักษณะของการเล่นได้ พลิกได้ สื่อต้องรู้จัก Improvise ก็คือการประยุกต์ให้เข้ากับลักษณะวัฒนธรรม ผมกลับเห็นดีนะที่เอาละครมาทำให้ตำนานหรือเรื่องเล่าพวกนี้ให้เหมือนมีชีวิตใหม่ที่อยู่ได้เหมือนเดิม
แต่ว่าผู้จัดทำอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการทำกราฟิก CG, 3D อะไรพวกนี้ซึ่งเป็นเรื่องเชิงโปรดักชัน แต่ผมมองว่ามันคือคุณภาพของการผลิตแค่นั้นเอง ส่วนในเรื่องของการดัดแปลงนั้นผมอยากให้มองและเข้าใจว่านี่คือ กลวิธีของการนำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นให้มันมีชีวิตใหม่”



 
 
การทำละครรีเมก ไม่ใช่การเล่าเรื่องแบบเดิมๆ เพราะแบบนั้นมันน่าเบื่อ สมัยนี้ต้องหัดจับจริตของคนดูให้ได้ และต้องเข้าใจว่าละครมันก็คือละคร เพราะฉะนั้น การร้อยเรียงเรื่องใหม่ถือเป็นศิลปะการของการถ่ายทอด
 
 
“ผู้จัดทำละครสมัยนี้ ต่อให้หยิบเรื่องอดีตมาก็ต้องเล่าในมุมมองใหม่ๆ เพราะคนรุ่นใหม่เป็นคนรุ่น Post Modern และความคิดของการทำละครอิงประวัติศาสตร์แต่ก่อนคือ การอิงตามความถูกต้อง และไม่ตีความนอกเหนือจากตัวบท เล่าแบบตรงไปตรงมา และไม่กล้าที่จะตีความใหม่
นั่นมันทำให้ไม่ถูกจริตกับคนสมัยนี้ไง เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเป็นเคล็ดลับของการทำละครที่จะอิงประวัติศาสตร์ ต้องจับจริตคนดูในปัจจุบัน และต้องสามารถตีความละครใหม่ได้ ผมเห็นข้อดีของเรื่องบางระจันในเวอร์ชั่นนี้ มันก็ดูเข้าถึงคนดูดีนะ เพียงแต่ว่า มันอาจจะมีข้อติเรื่องข้อเท็จจริงหรือว่าความบิดเบือนทางประวัติศาสตร์
ต้องเข้าใจว่าวัฒนธรรมของละครมันก็คือละคร คุณลองนึกถึงนิทานพื้นบ้านจันทโครพซิ มันเป็นเรื่องเดียวกันนะ แต่ทำไม่มันถึงมีวิธีร้อยเรียงได้และเล่นไม่เหมือนกันได้ เพราะนั่นมันคือศิลปะการถ่ายทอดซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนตามเนื้อเรื่องปกติไง และนี่คือศิลปะของการทำละครที่ผู้จัดต้องทำให้ได้”



 
 
บทเรียนนี้ ต้องจำจนตาย!

 
ละครจะมีฟีดแบ็กดีหรือไม่ดีนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการโปรโมต เพราะฉะนั้น การโปรโมตจนทำให้ประชาชนบางส่วนมีฟีดแบคในด้านลบนั้นจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรมากนัก ส่วนที่สำคัญมันอยู่ที่เนื้อหาของละครมากกว่า
 
 
“เรื่องการโปรโมตและให้ความคาดหวัง ผมคิดว่ามันไม่ใช่ประเด็นสำคัญนะ ประเด็นสำคัญคือ ต่อให้ไม่โปรโมตเลยแต่ว่าละครออกมาแล้วจับจิตจับใจคนดูอันนี้ล่ะสำคัญมากกว่า เพราะฉะนั้น การโปรโมตละครครั้งนี้อาจจะมองได้ว่าประชาชนเขาคาดหวังกันเยอะ แต่พอมาทำออกมาแล้วคุณภาพห่วย เลยผิดหวังไง



 
 
เพราะคาดหวังมากเกินไปเลยทำให้ผิดหวัง เพราะฉะนั้น การทำละครจึงควรระมัดระวังในเรื่องของเนื้อหาและการโปรโมต เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดมานั่นหมายถึงเป็นความผิดพลาดของทีมงาน
 
 
“ผมเชื่อว่าประชาชนเขาคาดหวังในเชิงคุณภาพของการผลิตมากกว่าเช่น การถ่ายทำ ซึ่งการทำละครมันมีข้อจำกัดเยอะนะ ทีนี้ผมคิดว่ากลุ่มคนดูจะมองว่าถ้ามีอะไรผิดพลาดจาก ‘บางระจัน’ แค่อย่างเดียวเขาก็จะผิดหวัง ก็คือว่าการทำละครอิงประวัติศาสตร์ต้องตรวจทานข้อเท็จจริงแล้วก็การทำออกมาให้ดูแนวหรรษา แนวบันเทิง ให้มีความตลก ขบขัน ดรามา
การทำละครต้องระมัดระวัง และที่สำคัญเดี๋ยวนี้การทำละครไม่สามารถจับกลุ่มผู้ดู ผู้ชมในวงกว้างได้ ต้องเอาให้ชัดเจนว่ากลุ่มผู้ดูเป็นแบบไหน แล้วก็ตอนโปรโมตกับเนื้อหาที่ออกอากาศจริงๆ ถ้ามันไม่เหมือนกัน นั่นคือความผิดพลาดของฝ่ายการตลาดและฝ่ายประชาสัมพันธ์นะ เพราะว่าคนดูคาดหวังในตัวโปรดักต์ที่แท้จจริง ซึ่งไม่ได้มีมาแบบนั้น อันนี้ต้องโทษฝ่ายประชาสัมพันธ์ว่าไปสร้างความเข้าใจผิดให้กับคนดูว่าเขาคาดหวังแบบไหน”

 
ต่อไปนี้คงจะต้องตีโจทย์ให้ชัดเจน จับกลุ่มผู้ดูและต้องแยกให้ได้ว่าต้องการให้ละครสื่อสารออกมาทางด้านใดกันแน่ และขอให้เหตุการณ์การโจมตีจากชาวโซเชียลมีเดียในครั้งนี้ เป็นบทเรียนที่ทีมงานควรนำไปศึกษาและปรับปรุง
 
 
“ต้องดูในตัวโปรดักต์ที่แท้จริงนะครับ ว่ามันต้องการสื่ออะไรกันแน่ ระหว่างเอาเรื่อง ‘บางระจัน’ มาฟูมฟักความรักสามัคคี ความภาคภูมิใจในชาติ หรือเรื่องบางระจันมาเป็นกุศโลบายให้เด็กๆ ได้สนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หรือเพียงแค่ทำเรื่องบางระจันมาพื่อความบันเทิงให้เป็นละครรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง ต้องตีโจทย์ให้ชัดเพราะแต่ละกลุ่มคนดูมันไม่เหมือนกัน” นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) กล่าวทิ้งท้าย



ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการLive




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น