xs
xsm
sm
md
lg

ปี 57 บิ๊กอสังหาฯ รายได้โต กำไรอู้ฟู่ จับตาปี 58 วัดกึ๋นผู้ประกอบการฝ่ากำลังซื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปี 57 บิ๊กอสังหาฯ กำไร รายได้โตถ้วนหน้าท่ามกลางวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนเพิ่ม กำลังซื้อลด เชื่ออานิสงส์แบ็กล็อกคอนโดฯ หนุน ยอดขายบ้านเพิ่ม พบบิ๊กอสังหาฯ 15 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ฟันกำไร 36,828 ล้านบาท รายได้รวม 243,383 ล้านบาท

ในปี 2557 ที่ผ่านมา เป็นอีกปีที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประสบกับปัจจัยลบสำคัญหลายประการ เริ่มตั้งแต่ปัญหาการเมืองที่ทวีความรุนแรงมาตั้งแต่ปลายปี 2556 กระทั่งวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหาร หลังจากนั้น สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มสงบลง ซึ่งทุกคนต่างตั้งความหวังว่าภาวะเศรษฐกิจ และกิจกรรมทางธุรกิจ การท่องเที่ยว และอื่นๆ จะฟื้นกลับมา แต่กระนั้นเศรษฐกิจไทยกลับไม่ได้ฟื้นตามที่คาดหมายเอาไว้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากการชะลอตัวภายในประเทศ และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ไทยยังประสบต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นส่วนหนึ่งจากนโยบายประชานิยม ทำให้ในปัจจุบันไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 85%

จากผลกระทบดังกล่าว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่น และกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะการซื้อที่อยู่อาศัยที่ถือเป็นทรัพย์สินใหญ่ต้องใช่เงินในอนาคตอีกนับ 10-30 ปี ในการซื้อบ้านแต่ละหลัง ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2557 เกิดการชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวดังกล่าวเกิดขึ้นในบางสินค้า บางระดับราคา และบางทำเลเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 ผู้ประกอบการหลายรายได้รับอานิสงส์จากยอดขายรอรับรู้รายได้ของคอนโดมิเนียมในช่วง 1-3 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งจะมารับรู้ในปีนี้ ทำให้แม้ว่ายอดขายในปี 2557 จะลดลง แต่รายได้และกำไรของหลายบริษัทผลออกมาเป็นบวก หรือมีการเติบโตได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการหลายรายสามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อในปัจจุบัน ย่อมสามารถสร้างรายได้ที่เติบโตได้เช่นกัน

LH กำไรสูงสุดในอุตฯ-PS รายได้รวมอันดับ 1

จากผลการดำเนินงานของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ งวดสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2557 จะพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้น โดยเทียบจากการกำไรสุทธิ พบว่า อันดับ 1 ยังคงเป็นบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH โดยทำกำไรสุทธิ 8,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2556 ที่มีรายได้ 6,478.40 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นกำไรจากการขายสิทธิการเช่าในศูนย์การค้าเทอมิเนล 21 ให้แก่กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์แอล เอช ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ ในราคา 6,058 ล้านบาท ทำให้แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรจากการขายสิทธิการเช่าสุทธิจากภาษีแล้ว จำนวน 2,518 ล้านบาท คิดเป็นกำไร 1,510.80 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นของผู้ถือหุ้นส่วนย่อย 1,007.20 ล้านบาท มีรายได้รวม 31,931 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีรายได้รวม 25,741 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขาย 26,036.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.50% จากปี 2556 ที่มีรายได้จากการขาย 22,939.49 ล้านบาท

ตามมาด้วยอันดับ 2 บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS โดยสามารถทำกำไรได้ 6,654 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% จากปี 2556 ที่มีกำไรสุทธิ 5,801 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมมาเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรม คือ 43,027 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีรายได้รวม 39,848 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขาย 42,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 99.4% เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีรายได้จากการขาย 38,848 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายทาวน์เฮาส์ 22,791 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 9,776 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 9,694 ล้านบาท และรายได้จากโครงการในต่างประเทศ 441 ล้านบาท

อันดับ 3 บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กำไรสุทธิ 4,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีกำไรสุทธิ 2,882 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขาย 18,269.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% จากปี 2556 ที่มีรายได้จากการขาย 12,322.35 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากคอนโดฯ 56% และบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ 44% ทั้งนี้ ศุภาลัย มียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) ณ สิ้นปี 2557 จำนวน 38,758 ล้านบาท โดยจะรับรู้ในปี 2558 จำนวน 17,664 ล้านบาท ที่เหลืออีก 21,094 ล้านบาท จะทยอยรับรู้ภายใน 3 ปีหลังจากนี้

อันดับ 4 บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กำไรสุทธิ 3,393 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีกำไรสุทธิ 1,929 ล้านบาท แสนสิริ มีรายได้จากการขาย 27,174 ล้านบาท ลดลง 2% จากปี 2556 ที่มีรายได้จากการขาย 27,724 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายคอนโดฯ 14,045 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 51.7% บ้านเดี่ยว 11,488 ล้านบาท สัดส่วน 42.2% และทาวน์เฮาส์ 1,622 ล้านบาท สัดส่วน 6%

อันดับ 5 บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กำไรสุทธิ 3,329 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีกำไรสุทธิ 3,307 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขาย จำนวน 20,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีรายได้จากการขาย 18,477 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปี 2557 มีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม จำนวน 1,060 ล้านบาท จากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 4 แห่ง ได้แก่ บมจ.โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำนวน 648 ล้านบาท, กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ควอลิตี้ เฮ้าส์ 129 ล้านบาท, บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป 254 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า ควอลิตี้ เฮ้าส์ โฮเทล แอนด์ เรซิเดนซ์ 29 ล้านบาท

ผ่าอาณาจักรกลุ่มแลนด์ฯ กำไรอู้ฟู้

นอกจากแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่ครองแชมป์อันดับ 1 กำไรสูงสุดของอุตสาหกรรม 8,423 ล้านบาท บริษัทในเครือยังมีกำไรมาเป็นอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมได้แก่ ควอลิตี้ เฮ้าส์ ตามมาเป็นอันดับ 5 กำไร 3,329 ล้านบาท และบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ กำไรสุทธิ 3,313.33 ล้านบาท เพิ่ม 7.98 % เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีกำไรสุทธิ 3,068 ล้านบาท มีรายได้รวม 51,208.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.86% เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีรายได้จากการขาย 42,725 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขาย 47,964.75 ล้านบาท รายได้ค่าเช่าและบริการ 1,190.82 ล้านบาท รายได้อื่น 2,053.02 ล้าน โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้ค่าโฆษณา การเพิ่มขึ้นของรายได้จากการส่งเสริมการขายร่วมกับคู่ค้า และการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าบริการติดตั้งจากลูกค้า

อสังหาฯ ในเครือ “เจ้าสัวเจริญ” กำไรโต

หลังจากเทกโอเวอร์ บริษัทยูนิ เวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV ผ่านบริษัท อเดสฟอส จำกัด ของฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี” ลูกชาย “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ประธานกรรมการ “ไทยเบฟเวอเรจ” (TBEV) เมื่อปี 2550 หลังจากนั้น ฐาปน ได้ใช้ UV เป็นโฮลดิ้ง คอมพานี ในการเข้าลงทุนในบริษัทอสังหาฯ อื่นๆ โดยได้ซื้อหุ้นของบริษัทแกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด จำนวน 40% จากผู้ถือหุ้นเดิมอย่างบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN จำนวน 20% และเยาววงศ์ โฮลดิ้ง จำนวน 20% กลายเป็นผู้ถือหุ้น 100% และเทกโอเวอร์บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD และล่าสุด เข้าซื้อหุ้นที่เหลือจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ของบริษัทกรุงเทพ บ้านและที่ดิน จำกัด (มหาชน) หรือ KLAND เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทกลุ่มนี้ ได้แก่ UV บริษัทแม่มีกำไรสุทธิ 395 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 125% จากปี 2556 ที่มีกำไรสุทธิ 175 ล้านบาท โดยเป็นสาเหตุสำคัญจากบริษัท แผ่นดินทองฯ พลิกจากขาดทุน 430 ล้านบาท มาเป็นกำไร 305 ล้านบาท ทั้งนี้ UV มีรายได้จากการขาย บริการและให้เช่า 9,126 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% จากปี 2556 ที่มีรายได้รวม 6,083 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขาย 6,486 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากโครงการแนวราบ 3,071.9 ล้านบาท และโครงการแนวสูง 3,414 ล้านบาท UV มีรายได้จากค่าเช่าอาคาร ปาร์คเวนเชอร์ 313.2 ล้านบาท และอาคารสำนักงานของกลุ่มแผ่นดินทอง 960.5 ล้านบาท

ส่วนแผ่นดินทอง พลิกจากขาดทุน 430 ล้านบาท เป็นกำไร 305 ล้านบาท มีรายได้รวม จำนวน 4,435.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เป็นจำนวน 2,841.31 ล้านบาท สาเหตุมาจากการรับรู้รายได้จากการขายอสังหาฯ 2,449.72 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากโครงการบ้านจัดสรรเปิดใหม่ 7 โครงการ ที่บริษัทเริ่มพัฒนามาตั้งแต่กลางปี 2556 จำนวน 3 โครงการ และระหว่างปี 2557 อีก 4 โครงการ จำนวน 1,679.29 ล้านบาท และจากการรับรู้รายได้จากการขายอสังหาฯ ในโครงการบ้านจัดสรรของกรุงเทพบ้านและที่ดิน ที่บริษัทได้เข้าไปลงทุนเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 จำนวน 770.43 ล้านบาท ซึ่งยอดรายได้ดังกล่าวได้รวมรายได้ของกล่มเคแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2557 จนถึง 11 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่กิจการที่อยู่ภายใต้การควบคุมเดียวกัน ได้เข้าซื้อส่วนได้เสียถึงเกณฑ์ที่นับได้ว่าเข้าควบคุมกิจการ จำนวน 597.77 ล้านบาท

นอกจากกลุ่มของ UV แล้ว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายในกลุ่มที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบด้วย “ทีซีซี แคปปิตอลแลนด์” เน้นพัฒนาบ้านเดี่ยว และคอนโดมิเนียมระดับบน “ทีซีซี แลนด์ ดีเวลลอปเม้นท์” เน้นปล่อยเช่า และบริหารพื้นที่ต่างๆ และ “ทีซีซี แลนด์” ผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กลุ่มโครงการรีเทล

อสังหาฯ รายกลางกำไรโต

ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายกลางในตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้หลายฝ่ายจะมองว่าได้รับผลกระทบจากภาวะการเมือง และเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่ารายใหญ่ แต่บริษัทส่วนใหญ่ยังคงมีผลการดำเนินงานที่เติบโตได้ ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จาก Backlog คอนโดมิเนียมที่ขายมาก่อนหน้านี้และเริ่มทยอยรับรู้ในปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดจาก บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด (มหาชน) หรือ MJD พลิกจากขาดทุน 118 ล้านบาท ในปี 2556 มาเป็นกำไร 663 ล้านบาท ในปี 2557 โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายหน่วยในโครงการคอนโดมิเนียม ในปี 2557 จำนวน 5,701.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75.61% เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีรายได้ 3,246.74 ล้านบาท จากการโอนกรรมสิทธิ์โครงการอาคารชุดที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2557 จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ Equinox Phahol-Vibha, M Phyathai, M Ladprao และ M Silom ซึ่งมีการรับรู้รายได้รวม 3,848.03 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ NCH มีกำไร 114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.35% จากปี 2556 ที่มีกำไร 105 ล้านบาท มีรายได้รวม 1,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.65% จากปี 2556 ที่มีรายได้รวม 1,681 ล้านบาท เนื่องจากสามารถโอนกรรมสิทธิ์โครงการบ้านได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ โครงการบ้านฟ้าปิยรมย์ เทอร์เร่, โครงการธัญธานี โฮมออนกรีน วิลเลจ 2, โครงการเอ็นซีรอยัล ปิ่นเกล้า, โครงการบ้านฟ้าปิยรมย์เลคแกรนด์เด และโครงการบ้านฟ้ากรีนเนอรี่ปิ่นเกล้า-สาย 5

บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA พลิกจากขาดทุนในปี 2556 จำนวน 49 ล้านบาท มาเป็นกำไร 57 ล้านบาทในปี 2557 โดยมีรายได้รวม 1,271.58 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 272.72% จากปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นจากการขายบ้านพร้อมที่ดิน จำนวน 509.16 ล้านบาท หรือ 169.35% และอาคารชุด 418.52 ล้านบาท หรือ 2,673.87% ส่งผลให้รายได้รวมของกิจการเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2556

LPN-NOBLE กำไรหดเหตุตลาดคอนโดฯ ชะลอตัว

บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN กำไร 2,021 ล้านบาท ลดลง 13.19% จากปี 2556 ที่มีกำไร 2,328 ล้านบาท มีสาเหตุมาจากรายได้รวมลดลงอยู่ที่ 12,867 ล้านบาท ลดลง 10.31% จากปี 2556 ที่มีรายได้รวม 14,346 ล้านบาท ส่วนบริษัทโนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE กำไร 163 ล้านบาท ลดลงจาก 323 ล้านบาท ในปี 2556 โดยมีรายได้จากการขาย-ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 2,204.60 ล้านบาท ลดลง 812.68 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนสาเหตุหลักโครงการคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ของบริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2557 ได้แก่ โครงการโนเบิล รีเวนต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับทิศทางตลาดอสังหาฯ ในปีแพะทองนั้น ความเห็นของผู้ประกอบการอยากเห็นรัฐบาลเร่งรัดการงบประมาณเข้าสู่ระบบ แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลที่จะเรียกว่า“รัฐบาลชุดพิเศษ”กำลังดำเนินนโยบายการลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงข่ายรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง โครงการข่ายรถไฟความเร็วสูงที่จะขยายไปตามภูมิภาคต่างๆ ก็น่าจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งในระดับภาพรวมของประเทศ และระดับจังหวัด และการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดิน และโครงการที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และธุรกิจเชิงพาณิชย์ต่างๆ ขยายตัว ในขณะเดียวกัน เรื่องของการสร้างความปรองดองก็น่าจะเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ทั้งภาคเอกชน ประชาชน และนักลงทุนต่างประเทศต่างรอผล และการนำไปปฏิบัติในเชิงรูปธรรมอย่างชัดเจน เพราะหากไปตามแนวทางแม่น้ำ 5 สายที่ ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดไว้ ก็น่าจะทำให้ “ประเทศไทย” พอมีความหวัง “เกิดการปรองดอง”กลับมาอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น