“สศค.” คงเป้าส่งออกปีนี้เติบโตได้ 1.4% ยอมรับยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ขณะในกลุ่มประเทศที่เป็นปัจจัยบวกของการส่งออกสำหรับปีนี้ ประกอบไปด้วย สหรัฐฯ อินโดจีน รวมไปถึงกลุ่มประเทศ CLMV พร้อมยืนยันคลังไม่ได้กดดัน “ธปท.” ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.คงเป้าหมายการส่งออกปีนี้โต 1.4% แม้ในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา การส่งออกกลับมาติดลบที่ 3.5% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 5 ปี
ทั้งนี้ มองว่าการส่งออกในปีนี้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในกลุ่มตะวันออกกลางที่มีปัญหาในเรื่องของราคาน้ำมันซึ่งกระทบต่อการส่งออกของไทย ขณะในกลุ่มประเทศที่เป็นปัจจัยบวกของการส่งออกสำหรับปีนี้ ประกอบไปด้วย สหรัฐฯ อินโดจีน รวมไปถึงกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม ปี 2558 ระบุว่า ส่งออกสินค้าในเดือนมกราคม 2558 กลับมาหดตัวอีกครั้ง โดยในเดือนมกราคม 2558 หดตัวที่ร้อยละ -3.5 ต่อปี โดยการส่งออกที่กลับมาหดตัวมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัวร้อยละ -13.0 และ -28.1 ต่อปี
สำหรับตลาดส่งออกที่หดตัวลง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน -5 ที่หดตัวร้อยละ -19.7 -7.5 -5.0 และ -4.8 ต่อปีตามลำดับ การส่งออกที่กลับมาหดตัวมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ที่หดตัวร้อยละ -13.0 ต่อปี จากยางพารา และข้าว ที่หดตัวร้อยละ -40.6 ต่อปี และ -13.0 ต่อปี และน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัวร้อยละ -28.1 ต่อปี เป็นสำคัญ
ขณะที่สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม ที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี จากยานพาหนะและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขยายตัวร้อยละ 16.1 และ 21.2 ต่อปีเป็นสำคัญ สำหรับตลาดส่งออกหลักที่หดตัวในเดือนมกราคม 2558 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน -5 ที่หดตัวร้อยละ -19.7 -7.5 -5.0 และ -4.8 ต่อปีตามลำดับ
สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม 2558 มีมูลค่าอยู่ที่ 17.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -13.3 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่มีมูลค่าต่ำกว่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลทำให้ดุลการค้าระหว่างประเทศในเดือนมกราคม 2558 ขาดดุลที่ -0.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับกรณีที่ยุโรปจะอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ QE ที่จะใส่เงินเข้าระบบตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นไป นายกฤษดา ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้าย
ส่วนความจำเป็นที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายหรือไม่นั้น มองว่ ธปท.ดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการติดตามสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการติดตามดูแลการค้าการขาย และความสามารถในการแข่งขันด้วย
“เราคงไม่ตอบว่าแบงก์ชาติจะต้องลดดอกเบี้ยลงมาเพื่อดูแลสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้าย เนื่องจากปัจจุบันมั่นใจว่า ธปท.สามารถดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว” นายกฤษฎา กล่าวสรุป