ธปท.เผยปี 57 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ เติบโตแค่ 5% เทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเติบโตได้ถึง 11% โดยพบว่า Q4/57 สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปีที่ 2.9% ขณะเดียวกัน ระบบธนาคารพาณิชย์ ก็ยังมีกำไรต่อเนื่อง แต่มีอัตราที่ชะลอลง ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยก็มีการเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 57 ระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีเสถียรภาพ โดยสินเชื่อขยายตัวชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานชะลอลง คุณภาพสินเชื่อโดยรวมทรงตัวแต่ด้อยลงบ้างในสินเชื่ออุปโภคบริโภค อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองและมีเงินกองทุนในระดับสูง สามารถรองรับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจได้
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายไตรมาส สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปีที่ 2.9% ในไตรมาส 4/57 ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง สินเชื่อธุรกิจ (68.9% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 4.0% ในปี 57 ชะลอลงต่อเนื่องในทุกภาคธุรกิจ และหดตัวในภาคธุรกิจการเงินและภาคบริการ
ขณะที่สินเชื่อภาคสาธารณูปโภคยังขยายตัวได้ดี สำหรับสินเชื่อ SME ขยายตัวชะลอลงมากจาก 14.7% ในปี 556 มาอยู่ที่ 2.2% ในปี 57 ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังขยายตัวได้ที่ 6.2% สินเชื่ออุปโภคบริโภค (31.1% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 7.4% ชะลอตัวต่อเนื่อง จากการหดตัวของสินเชื่อรถยนต์และการชะลอตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวได้ดีใกล้เคียงกับปีก่อน
คุณภาพสินเชื่อโดยรวมทรงตัว โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มียอดคงค้าง 277.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5 พันล้านบาทจากปีก่อน สัดส่วน Gross NPL ทรงตัวที่ 2.15% ขณะที่สัดส่วน Net NPL เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.08%
อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีแนวโน้มด้อยลงบ้าง โดยสัดส่วน NPL เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.4% จากสินเชื่อรถยนต์สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SM) เพิ่มขึ้นเป็น 336.4 พันล้านบาท จากสินเชื่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นสำคัญ ส่งผลให้สัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.4% เป็น 2.6%
อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์มีการกันเงินสำรองในระดับสูงต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นเป็น 169.4%
ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรต่อเนื่องแต่ชะลอลง โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นและ Net Interest Margin (NIM) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.55% เป็น 2.60% อย่างไรก็ตาม รายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง กอปรกับค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเพียง 7.7 พันล้านบาท หรือขยายตัว 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงเนื่องจากได้กันไว้มากแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 10.2 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% เทียบกับ 17.3% ในปีก่อน โดย ROA ทรงตัวอยู่ที่ 1.32%
เงินกองทุนอยู่ในระดับสูง โดยเพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรเป็นสำคัญ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier-1 ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 16.8% และ 13.7% ตามลำดับ เทียบกับ 15.7% และ 12.6% ในปี 56