xs
xsm
sm
md
lg

แรงขายทำกำไรกดราคาทองอ่อนตัวระยะสั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ราคาทองคำในช่วง 7-8 วันที่ผ่านมา ราคาทองคำกลับเข้าสู่ภาวะ “ขาลง” โดยราคาอ่อนตัวลงมาเคลื่อนไหวระหว่างแนวรับ 19,450-19,550 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท และแนวต้านอยู่ที่ 19,850-19,900 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท ส่วนราคาในตลาดโลกเคลื่อนไหวทรงตัวที่ระดับ 1,050 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  การที่ราคาทองคำในประเทศแกว่างตัวมากกว่าตลาดต่างประเทศ เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทค่อนข้างผันผวนโดยเคลื่อนไหวระหว่าง 32.85-32.50 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ  คาดการณ์ว่ าราคาทองระยะนี้จะเคลื่อนไหวระหว่าง 18,750-20,000 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท ส่วนราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะเคลื่อนไหวระหว่าง 1,210-1,265 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ทั้งนี้ ต้องพิจารณาค่าเงินบาทประกอบด้วย

            ฉบับนี้อยากกล่าวถึงความล้มเหลวของ “ตลาดซื้อขายล่วงหน้า” ที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พยายามดำเนินการมาโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา  ทั้งตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า,  การเปิดเทรดโลหะเงินที่ไม่ประสบความสำเร็จจนต้องยุติการซื้อ-ขายไป  ผู้เขียนอยากชี้แจงว่า การดำเนินงานอะไร ไม่ใช่ว่าจะสามารถ Copy ระบบการซื้อขายของประเทศที่ผู้บริหาร “เดินทางไปดูงาน” เข้ามาแปะแล้วก็เริ่มใช้งานได้เลย  ผู้บริหารท่านนั้นยังต้องศึกษาศักยภาพของบุคลากร  ศักยภาพของนักลงทุนไทย  และความเข้าใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประกอบการดำเนินงานด้วย 

            ความล้มเหลวที่ผ่านมาน่าจะพอเป็นบทเรียนให้แก่บรรดาผู้บริหารทั้งหลายได้ หากพวกเขาเหล่านั้นได้รับ “ความเสียหาย” แต่เนื่องการผู้เสียหายคือ “ประชาชน” ทำให้ผู้บริหารไม่มีบทเรียน “ราคาแพง” จึงมีดำริอยากตั้ง “ตลาดซื้อขายทองคำ” ในประเทศไทยให้ได้ภายในปีนี้ สมาคมค้าทองคำยังคงมี “ข้อข้องใจ” ในอีกหลายประเด็น รวมถึง “ข้อเสนอแนะ” หลายข้อที่อยากให้ผู้บริหาร ตลท. รับฟัง และนำไปประกอบการพิจารณา แต่เบื้องต้นอยากให้รับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย ไม่ใช่ฟัง “กูรู” เพียงคนเดียวมากเป็นพิเศษเพียงเพราะกูรูท่านนั้นเป็นผู้สนับสนุนการเดินทาง “ดูงาน” เท่านั้น การไม่ไตร่ตรองของท่านจะสร้างความเสียหายให้แก่วงการทองคำมากกว่าจะสร้างสรรค์

Update ความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจทั่วโลก ฉบับนี้ขอเริ่มที่ สถานการณ์ “เงินเฟ้อ” ที่ชะลอตัวทั่วโลก อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หลายประเทศเผชิญภาวะ “เงินฝืด” สาเหตุหลักจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบโลก ลดลงกว่า 60% จากกลางปี 2557  ปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ที่ 55 เหรียญต่อบาร์เรล (อ้างอิงตลาดดูไบ)  ธนาคารกลางในหลายประเทศต้องหันกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย โดยการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องดั่งที่ได้เห็นหลายประเทศทยอยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมกราคม เริ่มกันที่ 1.ธนาคารกลางอินเดีย ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 0.25% เมื่อกลางเดือน ม.ค. และมีแนวโน้มจะปรับลดอีกในการประชุมครั้งถัดไป  2.ธนาคารกลางออสเตรเลีย ได้ตัดสินใจลดดอกเบี้ยฯ ลง 0.25% เหลือ 2.25% โดยเป็นการปรับลดครั้งแรกตั้งแต่เดือน ส.ค.2556 และ 3.ธนาคารกลางรัสเซีย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2% เหลือ 15%

   นอกจากนี้ ยังมีบางประเทศใช้มาตรการการเงินผ่อนคลายผ่านการปรับลดค่าเงิน เช่น  ธนาคารกลางสิงคโปร์ ปรับเปลี่ยนกรอบการเคลื่อนไหวให้มีการยืดหยุนลดลง เป็นต้น ขณะที่ สวิตเซอร์แลนด์ ยกเลิกการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินสวิสฟรังก์ กับยูโรที่ 1.2 ฟรังก์ต่อยูโร เพื่อลดความผันผวนจากอ่อนค่าของเงินยูโร หลังยุโรปทำ QE เป็นต้น 

        ขณะที่ไทย แม้ว่าในปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงยืนดอกเบี้ยที่ระดับ 2% (ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11) แต่ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ติดลบ 0.41% ในเดือน ม.ค. เป็นครั้งแรกในรอบ 64 เดือน  และยังมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องอีกในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับฐานเงินเฟ้อที่สูงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ดังนั้น จึงเชื่อว่า ธปท. น่าจะต้องกลับมาให้น้ำหนักต่อประเด็นนี้ และทำให้มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยฯ ลงในการประชุมครั้งถัดไปช่วงกลางไตรมาส 2/58

มาต่อกันที่สถานการณ์ในยุโรป คงต้องเริ่มที่ กรีซ หลังนายยานิส วารูฟาคิส รมว.คลังกรีซ เดินสายพบเจ้าหนี้กลุ่ม “ทรอยกา” ที่ประกอบด้วย สหภาพยุโรป หรือ EU ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เพื่อเจรจาปรับครงสร้างหนี้ครั้งใหม่อย่าง “ชาญฉลาด” และไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอให้ “ขยายโครงการดังกล่าว” ออกไป

แม้ว่าตามกำหนดกรีซต้องเข้ารับการพิจารณาความก้าวหน้าของมาตรการรัดเข็มขัดโดยกลุ่มทรอยกา ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อปูทางสู่การรับเงินช่วยเหลืออีก 7,200 ล้านยูโร หรือราว 268,560 ล้านบาท เป็นผลให้การเจรจาโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อกรีซยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด งานนี้คณะกรรมาธิการยุโรป เตรียมพิจารณาการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามภาระหนี้สินของกรีซแทนกลุ่มทรอยกา ซึ่งเป็นตัวแทนเจ้าหนี้รายใหญ่ของกรีซแล้ว

กรณีดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์หลายรายคาดว่า กรีซ น่าจะยังคงอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป ดังที่ผู้เขียนคาดการณ์ไว้ในฉบับที่แล้ว และก็ทำให้ทองคำปรับลดระดับ “สินทรัพย์ปลอดภัย” ลงเล็กน้อย

            ต่อด้วย  ยอดคำสั่งซื้อสินค้าโรงงานของสหรัฐฯ ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันในเดือนธันวาคมหดตัวลง 3.4% เปรียบเทียบกับช่วยเดียวกันของเดือนพฤศจิกายน เพราะความต้องการสินค้าที่ลดลงจากหลายภาคธุรกิจ ขณะที่คำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่เกี่ยวกับทางทหาร และไม่ใช่เครื่องบินเห็นการหดตัวเพียงเล็กน้อยที่ -0.1% จากที่หดตัว 0.6% ในเดือนก่อนหน้า โดยคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมนั้นยังมีข้อจำกัด เพราะความต้องการสินค้าจากยุโรป และเอเชียยังมีไม่มาก ประกอบกับการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ และราคาน้ำมันที่ปรับร่วงลง ทำให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจพลังงาน อาจเลื่อนการลงทุนออกไปก่อน หรือตัดสินใจไม่ลงทุนในขณะนี้ ซึ่งเรามองว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงบ้างในช่วงนี้จะชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในระยะสั้น

          แม้ว่า นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED จะแถลงผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน หรือ FOMC เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมาว่า มีมติเป็นเอกฉันท์ 10-0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่  0-0.25% ต่อไป โดยในถ้อยแถลงยังคงใช้คำว่า “อดทน” ต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยแม้จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่คำว่า “อีกระยะเวลาหนึ่งไม่มีปรากฏในผลการประชุมครั้งนี้แล้ว อีกทั้งประธาน FED สาขาเซนต์หลุยส์ ออกมาแสดงความเห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มแข็งแกร่ง ทำให้ FED อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้าทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมสำหรับสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ยังต่ำไม่พอที่จะสนับสนุนนโยบายอัตราดอกเบี้ย 0%
 
มาติดตามวิกฤตเศรษฐกิจของรัสเซีย เมื่อ Standard & Poor’s หรือ S&P ปรับลดความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัสเซีย สู่ระดับขยะหรือ (Junk Bonds) ประกอบกับสหภาพยุโรป หรือ EU ตัดสินใจขยายขอบเขตการคว่ำบาตรแบบเจาะจงต่อรัสเซียไปอีก 6 เดือน ถึงเดือนกันยายน และพร้อมที่จะใช้มาตรการเพิ่มเติมหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น

            รัสเซียเองพยายามตั้งรับด้วยการที่ให้ ธ.กลางรัสเซีย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2% เหลือ 15% หลังจากเศรษฐกิจใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งนี้ ต้องยอมรับการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจของรัสเซียเป็นมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ รวมถึงได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก ทำให้มีการคาดการณ์ว่า GDP ของรัสเซียช่วงครึ่งปีแรกจะติดลบ 3.2% และอัตราเงินเฟ้อจะลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 10% ภายในเดือน ม.ค. ปี 2559

อย่างไรก็ดีผลกระทบของเศรษฐกิจรัสเซียที่อ่อนแอลงต่อเศรษฐกิจโลกโดยตรงคาดว่าจะมีไม่มากนัก เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจรัสเซียคิดเป็นประมาณร้อยละ 2 ของเศรษฐกิจโลก แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านคู่ค้าส่าคัญ โดยเฉพาะประเทศในยุโรปเนื่องจากภาคเศรษฐกิจจริงมีความเชื่อมโยงกันสูง

ทั้งนี้ หากพิจารณาเครื่องชี้ด้านเสถียรภาพต่างประเทศของรัสเซีย นับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดีตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นเงินส่ารองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง สัดส่วนหนี้ระยะสั้นต่อเงินสำรองที่ไม่สูงมาก และภาคการคลังที่เกินดุล ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องก็เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต Shale oil 37 ราย จากทั้งหมด 38 รายของสหรัฐอเมริการประสบปัญหาขาดทุน และไปกินส่วนทุนจนติดลบ ทำให้เจ้าหนี้หลักคือ ผู้ถือหุ้นกู้ หยุดการให้กู้ยืมตามเงื่อนไขที่เคยตกกัน และในจำนวนนี้มี 1 รายคือ บริษัท WBH Energy LP ได้เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการภายใต้ Chapter 11 ทำให้ผู้ประกอบการปิโตรเลียมขั้นต้นได้ทยอยตัดลดงบลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น BP ตัดลดงบลงทุน 20 พันล้านเหรียญฯ จากที่เคยกำหนดวงเงินไว้สูงถึง 24-26 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2558  เป็นต้น

          ล่าสุด ผลการสำรวจเจ้าหน้าที่สินเชื่ออาวุโสในสหรัฐฯ พบว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่มีนโยบายในการปล่อยสินเชื่อในอุตสาหกรรมพลังงานมีความเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม หลังราคาน้ำมันตกต่ำกว่า 50% (ขณะที่ยืดหยุ่นสินเชื่อบุคคล และรถยนต์ เป็นต้น)  ซึ่งยิ่งเป็นการลดแผนการลงทุนของผู้ประกอบการในระยะสั้น และระยะกลาง โดยสรุปเชื่อว่า ปัจจัยเหล่านี้จะหนุนราคาน้ำมันดิบโลกขึ้นไปยืนเหนือ 60 เหรียญต่อบาร์เรล และแตะ 70 เหรียญต่อบาร์เรล อีกครั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจรัสเซียสามารถจะพลิกฟื้นกลับมาได้ในครั้งหลังปี 2558 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น