xs
xsm
sm
md
lg

เตือน 20 บจ.ที่มีเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนระยะที่ 3 เร่งแก้ไขก่อน มี.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหลักทรัพย์ฯ แจ้งเตือน 20 บริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหาฐานะการเงินเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนระยะที่ 3
เร่งแก้ไขเหตุเพิกถอน ภายในเดือนมีนาคม 2558

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการปรับปรุงแนวทางดำเนินการต่อบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายต้องปรับปรุงฐานะการเงินและการดำเนินงานตามข้อ 9(6) ของข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน พ.ศ.2542 ซึ่งเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2554 เป็นต้นมา โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนอันเนื่องมาจากปัญหาฐานะการเงิน และการดำเนินงาน
(NC&NPG) ต้องปรับปรุงฐานะการเงินและการดำเนินงานให้พ้นเหตุเพิกถอนภายใน 3 ปี
หากบริษัทมีความคืบหน้าในแก้ไขเหตุเพิกถอนแต่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว

และบริษัทมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์การขอขยายระยะเวลาฟื้นฟูกิจการ บริษัทก็อาจขอขยายเวลาได้ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี (รวมระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 4 ปี) ในระหว่างปี 2554-2557 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ประกาศรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายต้องปรับปรุงฐานะการเงินและการดำเนินงานระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีหนังสือแจ้งบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว และสำเนาเรียนคณะกรรมการบริษัททุกท่านได้ทราบทุกระยะรวมทั้งหมด 3 ครั้งด้วยเช่นกัน

บัดนี้ใกล้ครบกำหนดการแก้ไขเหตุเพิกถอนภายในเดือนมีนาคม 2558 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอแจ้งให้บริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ระยะที่ 3 จำนวน 20 บริษัท เร่งดำเนินการดังต่อไปนี้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558

กลุ่มที่ 1 : บริษัทที่เคยได้รับการขยายเวลาแก้ไขเหตุเพิกถอนออกไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2558 จำนวน 17 บริษัท หากบริษัทสามารถดำเนินการให้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ขอพ้นเหตุเพิกถอนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 บริษัทต้องยื่นคำขอพ้นเหตุเพิกถอนต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีหนังสือชี้แจง และแสดงเหตุผลหรือข้อมูลสนับสนุนที่แสดงให้เห็นว่าฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทพ้นเหตุเพิกถอนตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว

กลุ่มที่ 2 : บริษัทที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ระยะที่ 3 ซึ่งจะต้องแก้ไขเหตุเพิกถอนภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 โดยอาจขอขยายเวลาฟื้นฟูกิจการอีก 1 ปี จำนวน 3 บริษัท 2.1) ในกรณีที่บริษัทสามารถดำเนินการให้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ขอพ้นเหตุเพิกถอนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 บริษัทสามารถยื่นคำขอพ้นเหตุเพิกถอนต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีหนังสือชี้แจง และแสดงเหตุผลหรือข้อมูลสนับสนุนที่แสดงให้เห็นว่าฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทพ้นเหตุอาจถูกเพิกถอนตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว

2.2) ในกรณีมีความคืบหน้าในการแก้ไขเหตุเพิกถอน แต่บริษัทยังไม่สามารถดำเนินการให้มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ขอพ้นเหตุเพิกถอนได้ และบริษัทมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การขอขยายระยะเวลาการฟื้นฟูกิจการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด บริษัทสามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยบริษัทต้องยื่นคำขอพร้อมนำส่งหนังสือชี้แจงเหตุผลและข้อมูลสนับสนุนที่แสดงให้เห็นว่า บริษัทมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ขอขยายระยะเวลาตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด

บริษัทจดทะเบียนทั้ง 20 บริษัทดังกล่าว ต้องยื่นคำขอพ้นเหตุเพิกถอน หรือคำขอขยายระยะเวลาในการฟื้นฟูกิจการเพื่อแก้ไขเหแห่งการเพิกถอนแล้วแต่กรณี พร้อมทั้งนำส่งงบการเงิน ประจำปี 2557 ฉบับที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต รวมทั้งคำชี้แจงหรือเอกสารข้อมูลที่สนับสนุน หรือเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคำขอดังกล่าวของบริษัทต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อประกอบการพิจารณาคำขอภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 หากบริษัทจดทะเบียนไม่สามารถดำเนินการให้มีคุณสมบัติการขอพ้นเหตุเพิกถอน หรือคุณสมบัติการขอขยายระยะเวลาฟื้นฟูกิจการได้ภายใน 31 มีนาคม 2558 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนต่อไป

โดยรายชื่อบริษัทที่มีปัญหาฐานะการเงินแ ละการดำเนินงานเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ระยะที่ 3 จำนวน 20 บริษัท

กลุ่มที่ 1 : บริษัทที่เคยได้รับการขยายเวลาแก้ไขเหตุเพิกถอนจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2558 จำนวน 17 บริษัท
 
1.APX บริษัท เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
2.BIG1/ บริษัท บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
3.BRC บริษัท บางกอกรับเบอร์ จำกัด (มหาชน)
4.CIRKIT บริษัท เซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน)
5.CPICO บริษัท เซ็นทรัลอุตสาหกรรมกระดาษ จำกัด (มหาชน)
6.KTECH บริษัท เค-เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
7.NFC บริษัท ปุ๋ยเอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน)
8.PK1/ บริษัท พัฒน์กล จำกัด (มหาชน)
9.POMPUI บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน)
10.SAFARI บริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน)
11.SGF บริษัท สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน)
12.TPROP บริษัท ไทย พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)
13.TRS บริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน)
14.TT&T บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน)
15.WORLD บริษัท เวิลด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
16.WP บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
17.WR บริษัท วีรีเทล จำกัด (มหาชน)

1/ BIG และ PK ได้ยื่นคำขอพ้นเหตุต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพิจารณาคำขอพ้นเหตุเพิกถอน

กลุ่มที่ 2 : บริษัทที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ระยะที่ 3 ซึ่งจะต้องแก้ไขเหตุเพิกถอนภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 โดยอาจขอขยายเวลาฟื้นฟูกิจการอีก 1 ปี จำนวน 3 บริษัท คือ ASCON บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) SINGHA บริษัท สิงห์ พาราเทค จำกัด (มหาชน)และ THL บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน)

สำหรับหลักเกณฑ์การขอพ้นเหตุเพิกถอนบริษัทจดทะเบียนสามารถยื่นคำขอพ้นเหตุเพิกถอนเมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนทุกข้อ ดังนี้

(1) มีส่วนของผู้ถือหุ้น (ภายหลังปรับปรุงความเห็นผู้สอบบัญชี)
- ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท กรณีจะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หรือ
- ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท กรณีจะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

(2) มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติที่เกิดจากธุรกิจหลักซึ่งจะดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่องในอนาคตภายใต้การจัดการของผู้บริหารส่วนใหญ่กลุ่มเดียวกันมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี ก่อนยื่นคำขอ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาจากงบการเงินประจำปี หรืองบการเงิน 4
ไตรมาสที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี ดังนี้

- มีกำไรสุทธิ และมีกำไรสุทธิในงวดสะสมก่อนยื่นคำขอ กรณีจะซื้อขายใน mai หรือ
- มีกำไรสุทธิไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิในงวดสะสมก่อนยื่นคำขอ กรณีจะซื้อขายใน SET
(3) ปรับโครงสร้างหนี้ได้มากกว่าร้อยละ 75 ของมูลหนี้ทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียน
(4) แสดงได้ว่าบริษัทมีฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานที่มั่นคงตามสภาพธุรกิจของบริษัทไปอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณากระแสเงินสดของกิจการประกอบด้วย
(5) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนก่อนขอพ้นเหตุเพิกถอน ยกเว้นเรื่องการกระจายการถือหุ้นรายย่อย ให้บริษัทดำเนินการตามแนวทางการดำเนินการต่อบริษัทจดทะเบียนที่มีการกระจายการถือหุ้นรายย่อยไม่ครบถ้วน
(6) สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย บริษัทต้องออกจากการฟื้นฟูกิจการผ่านศาลแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น