“ซีไอเอ็มบีไทย” จับตาตัวเลขเศรษฐกิจ “สภาพัฒน์” ก่อนประเมินจีดีพีในปีนี้ใหม่ คาด ดบ. จะคงที่ระดับ 2% ถึงสิ้นปี ชี้การปรับลด ดบ.แม้จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง และช่วยหนุนส่งออก แต่จะมีผลต่อภาวะฟองสบู่ และหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น กนง. จึงต้องเก็บกระสุนไว้เพื่อรับมือหากเกิดวิกฤต ศก. เตือนระวังประเทศในภูมิภาค หากต้องการกระตุ้นส่งออก อาจหั่น ดบ.ลง จุดชนวนสงครามค่าเงิน ส่วนค่าบาทที่แข็งกว่าภูมิภาคต้องไปดูว่ามีผลต่อการฟื้นตัวของ ศก. หรือไม่
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นจริงหรือไม่คงต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่จะประกาศในวันที่ 16 ก.พ.นี้ก่อน หลังจากนั้น ธนาคารจะปรับเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้ใหม่ เพราะจากเดิมคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะโต 3.3% ส่งออกอยู่ที่ 3%
ส่วนการให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง จะต้องส่งเสริมให้นักลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะการลดดอกเบี้ยแม้ว่าทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง แต่มีผลต่อภาวะฟองสบู่ และหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น
ดังนั้น จึงเห็นว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรเก็บกระสุนไว้ก่อน ยกเว้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจถึงจะนำออกมาใช้ดูแล พร้อมคาดว่าดอกเบี้ยจะทรงตัวในระดับ 2% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง ยกเว้นว่าประเทศในภูมิภาคต้องการกระตุ้นส่งออกอาจลดดอกเบี้ยลง ซึ่งก่อให้เกิดสงครามค่าเงิน
สำหรับการคงดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา เพราะเห็นสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ปัญหาคือ การส่งออกต้องดูเศรษฐกิจโลกว่าจะฟื้นตัวมากน้อยแคไหน แต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าภูมิภาคในปัจจุบันจะต้องติดตามว่า มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทยมากจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศ