xs
xsm
sm
md
lg

“หม่อมอุ๋ย” ชี้เศรษฐกิจไทยระยะยาวโตได้ 5-6% นายแบงก์ลุ้นกำลังซื้อในประเทศขยายตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” ชี้เศรษฐกิจไทยระยะยาวโตได้ 5-6% หากไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ด้านเอ็มดี IOD เชื่อธนาคารกลางยุโรปใช้มาตรการ QE อัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจแน่ ไม่ห่วงเงินทุนไหลเข้าออกมีปัญหา ด้านนายแบงก์คาดจีดีพีปีนี้โตได้ 3.5-4% จากอานิสงส์โครงการลงทุนภาครัฐ และราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลง พร้อมแนะให้ติดตามผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงมาก จะส่งให้การบริโภคในประเทศสูงขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน

สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD สัมมนาเรื่อง “Thai Economic 2015 : The Way Foward” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 เพราะการเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย การลงทุนภาครัฐเดินหน้าได้ต่อเนื่อง และภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น เห็นได้จากการขอรับส่งเสริมการลงทุนมีสูง ส่วนในอนาคตสามารถขยายตัวได้ตามศักยภาพที่ร้อยละ 5-6 หากมีการทำตามแผนระยะยาวด้วยการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องเปลี่ยนวิสัยทัศน์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยมุ่งเน้นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และมุ่งผลิตสินค้าเพื่อป้อนสังคมสมัยใหม่ พร้อมกันนี้ ต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มาจากภาคการเกษตร โดยเฉพาะยางพารา ให้สามารถนำมาผลิตเป็นสินค้นต่างๆ มากขึ้น

นอกจากนี้ ไทยจะต้องส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิตอล หรือ Digital Economy โดยการตั้งกองทุนร่วมลงทุน หรือ Venture capital เข้ามาสนับสนุนธุรกิจดิจิตอล เพราะดิจิตอลเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะรองรับภาคเศรษฐกิจอื่น ทั้งธุรกิจบริการ การจองโรงแรม และการโอนเงินต่างๆ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่า กำลังทำแพกเกจภาษี เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าขายในภูมิภาค หรือ International trading Center ที่จะยกเว้นภาษีกำไรที่ได้จากการลงทุนในบริษัทลูกที่อยู่ในต่างประเทศ รวมทั้งภาษีจากการขายสินค้าของบริษัทลูกในต่างประเทศ เป็นต้น เพื่อไม่ให้บริษัทไทยต้องออกไปตั้งบริษัทเทรดดิ้งในสิงคโปร์เพื่อเลี่ยงภาษี

ส่วนกรณีที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะเข้าพบรัฐบาลเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ หลังจากรัฐเร่งระบายข้าวออกจากสต๊อกของรัฐนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยืนยันพร้อมหารือกับเกษตรกรอย่างแน่นอน เพราะเชื่อว่าเรื่องราคาข้าวไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด

ด้าน นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป วันที่ 22 มกราคมนี้ จะเป็นไปตามที่คาดการณ์ที่ยุโรปจะยังคงต้องมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เพราะเศรษฐกิจยุโรปยังไม่ฟื้นตัวตามคาด ดังนั้น จะมีผลต่อเงินทุนไหลเข้ามายังเอเชียมากขึ้น ขณะเดียวกัน จะต้องติดตามการไหลออกของเงินทุนกลับไปยังสหรัฐฯ ด้วย เนื่องจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้

ส่วนแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ คาดว่าจีดีพีจะเติบโตร้อยละ 4 ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ โดยมีแรงสนับสนุนจากการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับลดลงจะช่วยส่งผลต่ออำนาจซื้อของประชาชนในประเทศด้วย สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาปีนี้ คือ ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงประเทศไทยจะสามารถหาประโยชน์จากปัจจัยบวกดังกล่าวได้หรือไม่ ซึ่งราคาน้ำมันในประเทศควรปรับลดลงอีก เพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐที่จะเดินหน้าในระยะต่อไปที่จะเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ส่วน นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 3.7 ส่วนการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3 แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประเมินการส่งออกเติบโตได้ต่ำร้อยละ 1 เท่านั้น เพราะมีปัจจัยจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังล่าช้า โดยไตรมาส 4 ปี 2557 มีการลงทุน 41,000 ล้านบาท จากงบลงทุนทั้งหมด 450,000 ล้านบาท ซึ่งปีนี้การลงทุนภาครัฐจะต้องขยายตัวร้อยละ 7 จึงต้องติดตามว่าการลงทุนภาครัฐจะสามารถเร่งการลงทุนได้ตามแผนหรือไม่

ขณะที่ นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 3.5-4 เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงมากมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 0.2-0.5 แต่ต้องติดตามว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงมากจะส่งผลให้การบริโภคในประเทศสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงช่วงที่ผ่านมาถึงร้อยละ 40-50 แต่ค่าขนส่งปรับลดลงเพียงร้อยละ 10-15 เท่านั้น

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจนมากนัก ทั้งสหรัฐฯ จีน และยุโรป จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยขยายตัวไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่ภาคธุรกิจหาแนวทางรับมือความผันผวนของอัตราตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น ภาคธุรกิจควรจะบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งสถาบันการเงินจะคอยให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจ และรัฐบาลจะต้องหาแนวทางเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจยกระดับการค้าชายแดนให้ขยายตัวสูงขึ้น เพื่อทดแทนการส่งในต่างประเทศที่ลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น