xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอชูยุทธศาสตร์ใหม่ให้นักลงทุน ตอ. เชื่อยกระดับภาคอุตฯ ให้เติบโตยิ่งขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - บีโอไอเดินสายชูยุทธศาสตร์ใหม่แก่นักลงทุน รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมในชลบุรี เป็นพื้นที่แรก หวังเสริมคุณค่าภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกให้แข็งแกร่ง นอกจากนั้น ยังเตรียมเดินสายโชว์ยุทธศาสตร์ในอีก 3 จังหวัด คือ นครราชสีมา เชียงใหม่ และสงขลา มั่นใจจะช่วยผลักดัน และยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่รองนายกฯ ชี้การปรับนโยบายใหม่ของบีโอไอจะไม่กระทบภาคลงทุนใน ตอ. พร้อมหนุนนักลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตที่ดีกว่าเดิม



วันนี้ (14 ม.ค.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่:เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี เพื่อสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุนในภาคตะวันออก หลังได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ นโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมลงทุนระยะ 7 ปี (พ.ศ.2558-2564)

โดยเลือกเดินสายสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุนในจังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่แรก ก่อนเดินสายจัดสัมมนาอีก 3 ครั้ง ที่จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดสงขลา ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษเรื่อง การสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ โดยมี นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ให้การต้อนรับ และมีนักลงทุน รวมทั้งตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าร่วมกว่า 1 พันคน

นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยว่า ปัจจุบันภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนมากมี่สุด โดยเฉพาะด้านยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมี ซึ่งบีโอไอมั่นใจว่า ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่จะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพการผลิต และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกล้วนเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐต้องการผลักดันให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนระยะ 7 ปี (พ.ศ.2558-2564) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา มุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนที่มีคุณค่าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง และยังจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับนโยบาย และหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนใหม่จะให้ความสำคัญต่อประเภทกิจการที่เป็นประโยชน์ และมีคุณค่าต่อภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เช่น กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กิจการเชิงสร้างสรรค์ กิจการ หรือบริการเพื่อรองรับการพัฒนา Digital Economy กิจการที่พัฒนาจากทรัพยากรในประเทศ โดยแบ่งกิจการที่จะได้รับส่งเสริมออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มเอ ซึ่งเป็นกิจการที่มีความสำคัญสูงต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และมีความจำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

ส่วนกลุ่มบี เป็นกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีการใช้เทคโนโลยีไม่สูงนัก แต่ยังมีความสำคัญต่อห่วงโซ่มูลค่า โดยจะไม่ให้ได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่จะอำนวยความสะดวกผ่านสิทธิประโยชน์ด้านเครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี

“ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ บีโอไอมิได้ยกเลิกการให้ส่งเสริมกิจการเป็นจำนวนมากแต่อย่างใด โดยประเภทกิจการที่จะให้ส่งเสริมยังมีจำนวนใกล้เคียงกับประเภทกิจการที่เคยให้การส่งเสริม ประมาณ 200 กว่าประเภทกิจการ แต่จะแบ่งออกเป็นกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคล ประมาณ 180 กิจการ

ส่วนอีกประมาณ 50 กิจการ จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านอากรนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี และมีโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงไม่ต่างจากนโยบายเดิม เช่น หากลงทุนเพิ่มในด้านการวิจัยและพัฒนาก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มตามสัดส่วนที่ลงทุน ตั้งแต่ 1-3 ปี หรือหากลงทุนในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มอีก 1 ปี เป็นต้น”

นอกจากนี้ การลงทุนในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม หรือเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงกรณีกิจการที่กำหนดมีการเสนอแผนลงทุนเพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) ผู้ประกอบการจะสามารถยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากสิทธิพื้นฐานตามแต่ละประเภทอุตสาหกรรมได้อีกด้วย

ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ว่า น่าจะเติบโตที่ประมาณ 3.5-4.5% จากความมั่นใจของนักลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น หลังพบว่าตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2557 มีมูลค่ากว่า 1.17 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้เห็นความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และจะพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจการค้า และการลงทุนของภูมิภาค ซึ่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักดันโครงการต่างๆ ให้มีความคืบหน้าไปมาก

เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีการจัดทำแผนลงทุนทั้งรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟรางคู่ โครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่จะช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่ง และเอื้อต่อการท่องเที่ยวและการทำธุรกิจระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีการปรับปรุงระบบราชการ กฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนโยบายการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ฯลฯ

โดยการปฏิรูปนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ จะเน้นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการ ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่พืชผลทางการเกษตร การประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างมีคุณภาพ และยั่งยืน และต้องเป็นอุตสาหกรรมสะอาด ไม่มีมลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการลงทุนที่ก่อให้เกิดความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“การปรับนโยบายใหม่ของบีโอไอจะครอบคลุมทั้งประเทศ เพียงแต่ว่าภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ที่เคยได้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด เพราะมีฐานการเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่ขณะนี้พื้นที่ทางการลงทุนเริ่มเต็มแล้ว ดังนั้น บีโอไอจึงมีแผนกระตุ้นให้นักลงทุนเดิมมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ซึ่งโรงงานเดิมก็สามารถปรับเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่ดีขึ้น โดยจุดนี้จะทำให้ฐานการผลิตเดิมได้ประโยชน์

ขณะที่รัฐบาลเห็นว่าภาคตะวันออกมีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลาย จึงไม่จำเป็นต้องโฟกัสเรื่องใดเป็นพิเศษ เพียงแต่จะต้องกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนเครื่องจักรกลที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ก็จะทำให้การลงทุนภาคอุตสาหกรรมเติบโตได้ทั้งภาคอย่างแน่นอน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น