xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์” ขายหุ้นเพิ่มทุนให้กระทรวงการคลัง 2,000 ล้านบาท พร้อมโชว์กำไรสุทธิ 334 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอร์ด “เอสเอ็มอีแบงก์” ขายหุ้นเพิ่มทุนให้กระทรวงการคลัง 2,000 ล้านบาท พร้อมโชว์กำไรสุทธิ 334 ล้านบาท หลังขาดทุน 41 ล้านบาทในครึ่งปีแรก เตรียมร่วมลงทุนกองทุนร่วมทุนในกิจการเอสเอ็มอีของรัฐบาล

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อยแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา มีมติเพิ่มทุนเรือนหุ้นของธนาคารจาก 20,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท จึงพร้อมขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่กระทรวงการคลังเป็นเงิน 2,000 ล้านบาท โดยแบ่งเงินเพิ่มทุนส่วนหนึ่ง จำนวน 500 ล้านบาท นำไปสมทบกองทุนร่วมทุนในกิจการเอสเอ็มอี (SMEs Private Equity Trust Fund) ของกระทรวงการคลัง เพื่อร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพ

สำหรับผลดำเนินงานสิ้นปี 2557 มีกำไรสุทธิ 334 ล้านบาท ดีขึ้นจากครึ่งปีแรกประสบปัญหาขาดทุนสุทธิ 41 ล้านบาท เมื่อเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ร้อยละ 39.92 ของเงินให้สินเชื่อรวม ลดลงเหลือร้อยละ 37.61 จากยอดเงินสินเชื่อรวม 84,986 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มี จำนวน 93,475 ล้านบาท เพราะต้องการขยายสินเชื่อมาเน้นเอสเอ็มอี รายย่อย วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ทำให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีขนาดกลางหลายรายรีไฟแนนซ์ไปอยู่ธนาคารพาณิชย์เอกชน ประกอบกับมีลูกค้าชำระเงินต้นระหว่างปี โดยสินเชื่อเบิกจ่ายปี 2557 ปล่อยกู้วงเงิน 9,872 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้วงเงินต่ำกว่า 15 ล้านบาท จำนวน 6,841 ราย เป็นยอดสินเชื่อ 7,140 ล้านบาท ดังนั้น จำนวนลูกหนี้รายย่อยจะมากขึ้นจากเดิมเป็นลูกค้ารายใหญ่

ส่วนแนวทางดำเนินงานปี 2558 ยังต้องเน้นปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทเท่านั้น และสินเชื่อใหม่ได้รับเป้าหมายต้องเป็นเอ็นพีแอลไม่เกินร้อยละ 5 โดยมุ่งทำเป้าหมายลดยอดเอ็นพีแอลจากกว่า 31,000 ล้านบาท เหลือ 20,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2558 วงเงินถึง 40,000 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2557 วงเงิน 9,872 ล้านบาท

สำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเป็นลูกหนี้ที่ดีมาตลอด และเป็นลูกค้าเกรดเอ โดยต้องการขยายกิจการแต่มีความต้องการสินเชื่อเกิน 15 ล้านบาท จึงต้องทำหนังสือไปยังซูเปอร์บอร์ดเพื่อขอให้ปล่อยสินเชื่อต่อกลุ่มดังกล่าว เพื่อทำตามพันธสัญญากับลูกค้าเดิม เพราะรายได้ของธนาคาร คือ การปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยให้สาขามีอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อตามวงเงิน และเพิ่มความรวดเร็วในการทำสัญญา และเบิกจ่าย คาดว่าจะคล่องตัวมากขึ้น

ด้าน นายสุพจน์ ยอมรับว่า การที่ตนเองเข้ามารับตำแหน่งครั้งแรกท่ามกลางการฟื้นฟูองค์กรจากการลาออกจากธนาคารออมสิน ที่มีความมั่นคงนั้น มองว่าบรรยากาศทางการเมืองไม่เหมือนเดิม และยังมีกลไกกำกับดูแล โดยมุ่งหวังเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้แก่เอสเอ็มอีแบงก์ให้กลับไปดำเนินการปล่อยสินเชื่อได้เหมือนเดิม โดยลดความขัดแย้งภายในองค์กร เพื่อให้ทุกคนร่วมกันแก้ไขปัญหาในปัจจุบันให้ผ่านการประเมินจากซูเปอร์บอร์ดในช่วง 3 เดือนข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น