xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์” พลิกฟันกำไร ประกาศลุยปล่อยสินเชื่อใหม่ทะลุ 40,000 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ (ซ้าย) และนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์
“เอสเอ็มอีแบงก์” เผยผลการดำเนินงานปี 57 พลิกสร้างกำไรถึง 334 ล้านบาท ดีขึ้นจากครึ่งปีแรกที่ขาดทุน 41 ล้านบาท ชูแก้หนี้เสียลุล่วง พร้อมปรับโครงสร้างองค์กรสำเร็จ พร้อมเพิ่มทุน 2,000 ล้านบาท ปล่อยกู้และลงทุนร่วมทุน ชูยุทธศาสตร์เน้นรายย่อยไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย เล่นของสูง ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ทะลุ 40,000 ล้านบาท ด้าน “สุพจน์” ลั่นพร้อมรับความเสี่ยงนั่งเก้าอี้ร้อน

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เผยว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารในปีที่ผ่านมา (2557) นับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 มีกำไรสุทธิ 334 ล้านบาท ดีขึ้นจากครึ่งปีแรกที่ขาดทุนสุทธิ 41 ล้านบาท ทั้งนี้สาเหตุสำคัญเกิดจากธนาคารสามารถรักษาคุณภาพลูกหนี้ไม่ให้ตกชั้นเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในขณะเดียวกันก็สามารถปรับปรุงโครงสร้างลูกหนี้เดิมที่เป็น NPLs ให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติ ซึ่งลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างเหล่านี้จ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารในอัตราไม่ต่ำกว่า MLR

ข้อต่อมา ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อตามพันธกิจซึ่งเป็นรายย่อยได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนน่าพึงพอใจ โดยลูกหนี้ตามพันธกิจของธนาคารจ่ายดอกเบี้ยในอัตราเฉลี่ย 8.5% ลูกหนี้ทั้ง 2 ประเภทนี้ทำให้ธนาคารมีดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีภาระในการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สูญลดลง และธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานให้อยู่ในระดับต่ำคือ 1.9% ของยอดสินเชื่อรวม ลดลงจาก 2.1% ของปี 2556 ขณะเดียวกัน ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของธนาคารไม่ได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานะของธนาคารเริ่มมีเสถียรภาพ ส่งผลให้สามารถระดมเงินฝากรายใหญ่เพื่อมาปล่อยสินเชื่อตามพันธกิจได้เพียงพอ ดังนั้นธนาคารจึงมีกำไรสุทธิ 334 ล้านบาท

ในส่วนของยอด NPLs ลดลงจาก 35,167 ล้านบาท (คิดเป็น 39.92% ของเงินให้สินเชื่อรวม) ณ สิ้นมิถุนายน 2557 ลดเหลือ 31,960 ล้านบาท (คิดเป็น 37.61% ของเงินให้สินเชื่อรวม) ณ สิ้นธันวาคม 2557 หรือลดลงเท่ากับ 3,207 ล้านบาท โดยยอดเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่จำนวน 84,986 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 93,475 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารได้ปรับแนวทางในการขยายสินเชื่อมาเน้น SMEs รายย่อย วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ทำให้ลูกหนี้ SMEs ขนาดกลางหลายรายรีไฟแนนซ์ไปอยู่ธนาคารพาณิชย์เอกชน ประกอบกับมีลูกค้าชำระเงินต้นในระหว่างปี แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะจำนวนสินเชื่อที่เบิกจ่ายในปี 2557 ธนาคารได้ปล่อยกู้ 9,872 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ 7,163 ราย ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้วงเงินต่ำกว่า 15 ล้านบาทจำนวน 6,841 ราย เป็นยอดสินเชื่อ 7,140 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากที่ธนาคารได้ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเพิ่มทุนเรือนหุ้นของธนาคารจาก 20,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 100 ล้านหุ้น โดยจะขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม 72.52 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 27.58 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าตามบัญชี ณ 30กันยายน 2557 เป็นจำนวนเงิน 2,000 ล้านบาท ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นรายใดไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคารจะขายหุ้นส่วนนั้นให้กระทรวงการคลัง ผู้ถือหุ้นซึ่งรวมถึงกระทรวงการคลังที่ถือหุ้น 98.24 % มีมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎข้อบังคับของธนาคาร กระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือน ดังนั้นธนาคารควรจะได้รับเงินเพิ่มทุน 2,000 ล้านบาทภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 หลังจากการเพิ่มทุนกระทรวงการคลังจะถือหุ้นในธนาคารคิดเป็นสัดส่วน 98.88% ธนาคารจะนำเงินเพิ่มทุนมารองรับการขยายสินเชื่อในปีนี้ และแบ่งเงินเพิ่มทุนส่วนหนึ่งจำนวน 500 ล้านบาทนำไปสมทบในกองทุนร่วมทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) ของกระทรวงการคลังต่อไป

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานของธนาคารในปี 2558 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้แจ้งมติของซูเปอร์บอร์ดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557 ให้ธนาคารทราบ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ 1. ธนาคารต้องปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทเท่านั้น และสินเชื่อใหม่จะต้องเป็น NPLs ไม่เกิน 5% 2. ให้ธนาคารเร่งดำเนินการบริหารหนี้ NPLs ที่มีอยู่โดยเร็ว 3. ให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของธนาคารทุกไตรมาส โดยยึดหลักในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ การบริหาร NPLs และประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่าย 4. ให้ธนาคารเร่งรัดตรวจสอบฟ้องร้องดำเนินคดีสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งธนาคารจะยึดถือหลักการที่ซูเปอร์บอร์ดให้ไว้ และจะพยายามดำเนินการในเรื่องการปล่อยกู้ให้ SMEs รายย่อย การร่วมลงทุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs และการพัฒนาศักยภาพของ SMEs ในเขตภูมิภาค ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของธนาคารต่อไป ในการนี้ธนาคารได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร รวมทั้งโยกย้ายพนักงานจากหน่วยงานสนับสนุน (Back Office) ให้มาอยู่ในหน่วยงานด้านที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อ การดูแลรักษาคุณภาพสินเชื่อ และการให้บริการลูกค้า (Front Office) เพื่อรองรับการปฏิบัติตามพันธกิจเรียบร้อยแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2558

นางสาลินีกล่าวเสริมว่า จากกรณีที่ทางธนาคารกำหนดการต้องปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท แต่สำหรับลูกค้ารายที่มียอดปล่อยกู้เกิน 15 ล้านบาท และได้ดำเนินการผ่านขั้นตอนไปแล้วก่อนที่ข้อกำหนดจะออกมา รวมถึงลูกค้าเก่าที่เป็นระดับเกรดเอ มีประวัติดี และมียอดต้องการสินเชื่อเกิน 15 ล้านบาท ทางเอสเอ็มอีแบงก์ได้ขอไปทาง สคร.เพื่อผ่อนปรนสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ ให้อนุมัติสินเชื่อได้เกิน 15 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการพิจารณาอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ

สำหรับเป้าการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีนี้ (2558) ที่สูงถึง 40,000 ล้านบาท ในขณะที่การปล่อยต่อรายเพียงไม่เกิน 15 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้เป็นเป้าที่ท้าทายอย่างยิ่ง แม้แต่ทางกระทรวงการคลังยังตั้งเป้าประเมินให้เราเพียง 32,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทางเอสเอ็มอีแบงก์ต้องการตั้งเป้าส่วนตัวที่ 40,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับการปล่อยสินเชื่อใหม่จะต้องเป็น NPLs ไม่เกิน 5% มั่นใจว่าทำได้ เพราะเท่าที่ทีมผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาทำงานตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 มียอดสินเชื่อใหม่ที่เกิดเป็น NPLs ไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ

“ตอนนี้เรามีการปรับวิธีการทำงานใหม่ จากเดิมที่ทุกอย่างมาต้องมาที่ส่วนกลาง แต่ปัจจุบันเราปรับวิธีให้สาขาย่อยมีอำนาจปล่อยกู้ได้เลย ทำให้กระบวนการรวดเร็วยิ่งขึ้น มีระบบมากยิ่งขึ้น ทำให้สะดวกต่อการอนุมัติ และจากเป้าที่เราวางไว้ 4 หมื่นล้านบาท เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง แต่ในขณะที่แบงก์เอกชนต่างๆ ชะลอการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี เราต้องการเป็นทางเลือกที่จะช่วยผู้ประกอบการไทย เพราะถ้าเราไม่ทำแล้วเอสเอ็มอีก็จะยิ่งลำบาก” นางสาลินีระบุ

ด้านนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวเสริมว่า เหตุที่เลือกมารับตำแหน่งนี้ ทั้งๆ ที่ในตอนคัดสรรกรรมการก็ได้ถามว่า อยู่ธนาคารออมสินดีๆ อยู่แล้ว จะมาเสี่ยงทำไม? แต่ส่วนตัวอยากจะทำงานที่มีส่วนช่วยผู้ประกอบการไทย และเคยผ่านประสบการณ์ในสถานการณ์เช่นนี้มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งทำงานกับธุรกิจรากหญ้าและมวลชนมาต่อเนื่อง และเป็นคนไม่มีต้นทุนอยู่แล้ว การมาทำงานตรงนี้ไม่ต้องการสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตัวเองหรือครอบครัว

ทั้งนี้ ยอมรับว่า การตัดสินใจเข้ามารับตำแหน่งครั้งนี้ ท่ามกลางการฟื้นฟูองค์กร พร้อมลาออกจากธนาคารออมสิน ที่มีความมั่นคงนั้น มองว่าบรรยากาศทางการเมืองไม่เหมือนเดิม และยังมีกลไกกำกับดูแล โดยมุ่งหวังเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้แก่เอสเอ็มอีแบงก์ให้กลับไปดำเนินการปล่อยสินเชื่อได้เหมือนเดิม โดยลดความขัดแย้งภายในองค์กร เพื่อให้ทุกคนร่วมกันแก้ไขปัญหาในปัจจุบันให้ผ่านการประเมินจากซูเปอร์บอร์ดในช่วง 3 เดือนข้างหน้า

“ก่อนที่ผมมารับตำแหน่งมีแต่คนเตือนว่าเหมือนมายืนอยู่ตรงกองเพลิง ผู้บริหารคนเก่าๆ อยู่ไม่เคยครบกำหนด แต่ผมเคยทำงานกับรากหญ้าและมวลชนมาต่อเนื่อง ดังนั้นผมไม่กลัว พร้อมจะขับเคลื่อนทุกมิติ ต่อไปเอสเอ็มอีแบงก์จะไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ผมพร้อมจะเปิดกว้าง และร่วมเดินขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับพนักงานทุกคน” นายสุพจน์กล่าว

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น