แบงก์ออมสิน-ตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงนามจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน SMEs กองที่ 2 และกองทุนที่ 3 วงเงินรวม 1.5 พันล้านบาท ช่วยหนุนเพิ่มศักยภาพ SMEs-Startup ให้เติบโต มีเงินร่วมลงทุนใช้พัฒนาธุรกิจได้โดยไม่ต้องมีภาระดอกเบี้ย และนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 คาดจะช่วยผู้ประกอบการได้ราว 50-100 บริษัท โดยแบงก์ออมสินจะถือหุ้นในกิจการสูงสุดไม่เกิน 49% และได้รับผลตอบแทนการลงทุนต่อปีโดยเฉลี่ยที่ 8%
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวหลังพิธีลงนามร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนSMEs Private Equity Trust Fund กองที่ 2 วงเงินรวม 500 ล้านบาท และกองที่ 3 วงเงินรวมอีก 1,000 ล้านบาทว่า การจัดตั้งกองทุนในครั้งนี้ธนาคารออมสินจะลงทุนเป็นสัดส่วน 80% ในทุกกอง ส่วนที่เหลือ 20% จะเป็นการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ฯ
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนนี้เป็นไปเพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม Startup และ Fintech ที่มีศักยภาพให้สามารถเติบโตและมีเงินร่วมลงทุนที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ต้องเสียอัตราดอกเบี้ย
ส่วนวิธีการร่วมลงทุนนั้น ธนาคารออมสินจะทำการจัดสรรวงเงินเพื่อเข้าร่วมลงทุนในกิจการแต่ละรายตั้งแต่ 10-100 ล้านบาท โดยการสัดส่วนถือหุ้นในกิจการสูงสุดจะไม่เกิน 49% ขณะที่อายุกองทุนฯ กำหนดไว้ที่ 10 ปี ส่วนผลตอบแทนการลงทุนในกิจการโดยเฉลี่ยต่อปีนั้นจะอยู่ที่ 8%
อย่างไรก็ตาม ธนาคารออมสินยังคาดหมายว่ากองทุนที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายได้อีกราว 50-100 บริษัท โดยขึ้นอยู่กับขนาดการร่วมลงทุนของธนาคารและปริมาณเงินที่บริษัทต้องการ ขณะที่การคัดเลือกตัวบริษัทที่ธนาคารออมสินจะเข้าร่วมลงทุนนั้นจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารจัดการกองทุนและผู้จัดการกองทุน
ทั้งนี้ กองทุนที่ 2 จะมีบริษัท เอกซ์พารา (ไทยแลนด์) จำกัด ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทรัสต์ มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด ( มหาชน) ทำหน้าที่เป็นทรัสตี ส่วนกองทุนที่ 3 จะมีบริษัท พรีเมียร์แอ๊ดไวเซอร์รี่ กรุ๊ป จำกัด ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทรัสต์ มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่เป็นทรัสตี
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินได้ย้ำประเด็นอัตราผลตอบแทนตามหลักการแล้วธนาคารไม่ได้หวังกำไรเป็นหลัก แต่สิ่งที่หวังคือต้องการผลักดันให้ SMEs ไทยมีความก้าวหน้าและมีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อทำให้การทำธุรกิจของประเทศมุ่งไปสู่แนวคิดไทยแลนด์ 4.0 ได้มากกว่า ส่วนผลตอบแทนการลงทุนจะถือว่าเป็นผลพลอยได้ที่ติดตามมาเท่านั้น
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ธนาคารออมสินและตลาดหลักทรัพย์ฯ เคยร่วมกันจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน SMEs Private Equity Trust Fund เพื่อสนับสนุน SMEs โดยความคืบหน้าในการดำเนินงานของกองทุนที่ 1 มูลค่า 500 ล้านบาทนั้นได้มีการอนุมัติการร่วมลงทุนไปแล้ว 6 ราย คิดเป็นวงเงิน 165 ล้านบาท และยังอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมลงทุนเพิ่มอีก 3 ราย คิดเป็นวงเงิน 120 ล้านบาท
ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการการตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงความแตกต่างของกองทุนร่วมลงทุนทั้ง 3 กองว่า กองทุนที่ 1 ซึ่งมีมูลค่า 500 ล้านบาทนั้น จะเน้นการลงทุนในกลุ่ม Startup ที่เริ่มมีการทำธุรกิจบ้างแล้ว ส่วนกองทุนที่ 2 มูลค่า 500 ล้านบาท จะเน้นการลงทุนในธุรกิจที่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นจริงๆ แต่ก็ยังมีแนวโน้นว่าจะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและสามารถให้ผลตอบแทนการลงทุนได้อีกมากในอนาคต ขณะที่กองทุนที่ 3 วงเงิน 1,000 ล้านบาทนั้น วิธีการลงทุนจะใกล้เคียงกับกองทุนที่ 1
กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมามีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าจดทะเบียนและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ MAI แล้ว 162 บริษัท มูลค่าระดมทุนประมาณ 99,057 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มี 23 บริษัทที่เติบโตจนย้ายเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากนี้ ความร่วมมือกับธนาคารออมสินในครั้งนี้จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ SMEs และจากผลความสำเร็จในการร่วมลงทุนของกองทุนได้ช่วยให้บริษัท YGGDRAZIL Group (อิคดาซิล กรุ๊ป) ซึ่งเคยเป็น SMEs ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับแอนิเมชันและเกมนั้นมีความพร้อมที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ได้แล้ว