xs
xsm
sm
md
lg

“ก.ล.ต.” เร่ง “ดีเอสไอ” เดินหน้าคดี “เอสแอลซี” พร้อมเรียกร้องให้รื้อ 14 คดีเก่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลขาฯ “ก.ล.ต.” ออกโรงจี้ “ดีเอสไอ” เร่งดำเนินคดี “เอสแอลซี” หลังร้องทุกข์ไปแล้ว 4 เดือน พร้อมเรียกร้องให้รื้อ 14 คดีเก่า สะพัดหน่วยงานความมั่นคงได้รวบรวมข้อมูลกรณีลุยซื้อหุ้น “เนชั่น-แกรมมี่” เจตนาครอบงำสื่อหรือไม่

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงการยื่นหลักฐานการสร้างราคาหุ้นบริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ที่ผิดปกติระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-29 เม.ย.2553 และตรวจสอบเชิงลึกพบพยานหลักฐาน ทั้งที่เป็นพยานวัตถุ และพยานเอกสาร คดีนี้ ก.ล.ต. ได้ยื่นเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.2557

นายวรพล ยังเห็นด้วยว่า คดีดังกล่าวนี้มีหลักฐาน และมีข้อมูลความผิดชัดเจน แต่ขณะนี้เวลาได้ล่วงเลยไปแล้วประมาณ 4 เดือน จึงขอเรียกร้องให้ทางดีเอสไอเร่งดำเนินการจัดการเพราะถือเป็นคดีสำคัญ

นายวรพล กล่าวว่า ตนเองอยากขอให้ท่านอธิบดีอีเอสไอ และอัยการสูงสุดลงมาควบคุมคดีนี้เองเพราะเป็นคดีที่มีความสำคัญ เพื่อความโปร่งใส และให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จำเป็นจะต้องระมัดระวัง เพราะเอกสารอาจจะสูญหายได้ เนื่องจากคดีมีเอกสารประกอบจำนวนมาก

นายวรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองอยากจะเรียกร้องให้ทางดีเอสไอ ช่วยรื้อฟื้นคดีเก่า 14 คดี ซึ่งอัยการสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งก่อนหน้านี้ ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษ นายฉาย บุนนาค และพวกไปแล้ว 14 คดี แต่อธิบดีดีเอสไอในอดีต และอัยการสั่งไม่ฟ้องไปเมื่อเดือน มิ.ย.2557 ดังนั้น ควรจะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ถ้ารื้อฟื้นได้จะพบหลักฐานสำคัญที่เชื่อมโยงกันได้

อย่างไรก็ตาม ดคีทางเศรษฐกิจเป็นคดีสำคัญโดยเฉพาะเรื่องหุ้นถือเป็นคดีสำคัญ ที่ผ่านมาการดำเนินการล่าช้ามาก แต่ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้รับอนุมัติจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อครั้งทำหน้าที่คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ซึ่งในขณะนี้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา โดยคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เร็วๆ นี้

ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานข่าวว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงได้รวบรวมข้อมูลกรณีบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือเอสแอลซี เข้าซื้อหุ้นบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นเอ็มจี และบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าเป็นการกวาดซื้อหุ้นบริษัทผู้ประกอบธุรกิจสื่อเพื่อครอบงำสื่อหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น