อุบลราชธานี - ศูนย์อำนวยการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ ให้ดีเอสไอ และหน่วยงานป้องกันทุจริต ตรวจจับชาวนารายใหม่ และผู้เช่านาสวมสิทธิขอรับเงินช่วยการผลิตไร่ละ 1,000 บาท หลังพบการลงบัญชีพื้นที่เพาะปลูกข้าวของเจ้าหน้าที่คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้มีช่องทุจริตเงินของรัฐ
ที่ว่าการอำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร่วมกับเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอและตำบล รวมทั้งตัวแทนจาก ธ.ก.ส.ประชุมกำหนดวิธีการลงบัญชีขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าว และพื้นที่ใช้ปลูกข้าว เพื่อขอรับเงินช่วยค่าการพผลิตไร่ละ 1,000 บาท แบบใหม่ ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ
และวิธีดังกล่าวจะถูกนำมาใช้พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการทุจริตจากการขึ้นทะเบียนขอรับเงินปลูกข้าวของชาวนาไร่ละ 1,000 บาท โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องใช้เงินงบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาทมาช่วยเหลือ
พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้บังคับการสำนักคดีความมั่นคงดีเอสไอ กล่าวว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติยังมีความสับสนวิธีการขึ้นทะเบียนชาวนาที่ขอรับเงินชดเชยค่าการผลิตไร่ละ 1,000 บาท เพราะเมื่อตรวจดูเอกสารการขึ้นทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกข้าวของจังหวัดอุบลราชธานี พบว่าชาวนาที่มีที่ดินเกิน 15 ไร่ เช่น มีอยู่จริง 20 ไร่ เจ้าหน้าที่ก็จะลงในรายละเอียดเป็นผู้มีที่ดินเพียง 15 ไร่ เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือตามเกณฑ์ที่รัฐจะจ่ายเงินให้ไม่เกินรายละ 15 ไร่ ทำให้มีพื้นที่หายไปจากระบบทะเบียน 5 ไร่
ด้วยวิธีดังกล่าว จะทำให้พื้นที่ปลูกข้าวที่หายไปจากชาวนารายนี้ อาจมีคนมาสวมสิทธิและยื่นเรื่องเข้ามาขอรับเงินค่าชดเชยได้อีก ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือชาวนาที่ยากจนมีรายได้น้อย เพราะมีที่ดินทำกินไม่มาก
ศูนย์อำนวยการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน จึงมีนโยบายให้หน่วยงานด้านการป้องกันการทุจริต ร่วมกับอีเอสไอ แบ่งกันตรวจสอบในพื้นที่ที่สงสัยจะมีการทุจริตกันขึ้น โดยให้ตั้งข้อสังเกตไปยังกลุ่มชาวนารายใหม่ ซึ่งมาขอขึ้นทะเบียนรับเงินค่าชดเชยหลังวันที่ 1 ต.ค.2557 ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ ผู้เช่านา เพราะอาจเกิดการทุจริตในโครงการนี้ได้
แต่เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้มีโอกาสเกิดการทุจริตในโครงการจ่ายเงินชดเชยที่ใช้งบกว่า 4 หมื่นล้านบาท จึงให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และทุกหน่วยงานใช้เครื่องมือการสแกนพื้นที่สุ่มตรวจพื้นที่ต้องสงสัยทุกแห่งทั่วประเทศ และให้แนะนำปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการลงทะเบียนของชาวนาที่มาขอรับเงินชดเชยค่าการผลิตหลังวันที่ 1 ต.ค.ให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้สามารถสวมสิทธิมาขอรับเงินจากโครงการได้