สภาธุรกิจตลาดทุนฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือน ม.ค.58 ทรงตัว ส่วนแนวโน้ม 3 เดือนข้างหน้าทรงตัวถึงซบเซา มองกลุ่มอสังหาฯ-ก่อสร้างยังน่าลงทุน กังวลเรื่องการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ล่าช้า ขณะที่เครื่องยนต์หลัก ศก. ยังไม่ฟื้นตัว
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทยและศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Nida Investor Sentiment Index) ประจำเดือน ม.ค.2558 โดยผลสำรวจระบุว่าใน 3 เดือนข้างหน้า ตลาดทุนมีแนวโน้มทรงตัวแต่ค่อนไปทางซบเซาหลังจากดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากความผันผวนในสถานการณ์ต่างประเทศ
โดยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนคาดการณ์อีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 88.27 ปรับลดลงถึง 35.06% จากดัชนีในเดือน ธ.ค. ดังนั้น เมื่อพิจารณารายกลุ่มนักลงทุน พบว่า นักลงทุนบัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนรายย่อย จะมีทิศทางทรงตัวมีความเชื่อมั่นสูงสุดที่ 120.00 และ 98.04 ตามลำดับ
ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศมีทิศทางแนวโน้มขาลงอยู่ที่ 77 และ 66.67 ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นอิทธิพลหลักจากสถานการณ์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนในต่างประเทศ ทั้งเศรษฐกิจยุโรป โดยเฉพาะรัสเซีย รวมถึงราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบดัชนีรายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงเกือบทุกกลุ่มนักลงทุน โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนสถาบันต่างประเทศมองตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มซบเซา ส่วนกลุ่มนักลงทุนรายย่อย และกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์คาดว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า ตลาดทุนไทยมีแนวโน้มทรงตัว แต่ค่อนข้างซบเซา
“การสำรวจดัชนีฯ ครั้งนี้ สำรวจเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่หุ้นไทยตกลงมาก ทำให้ดัชนีฯ ลดลงค่อนข้างมาก โดยประเมินว่า มาจากอารมณ์ของนักลงทุน” นางวรวรรณ กล่าว
โดยนักลงทุนมองว่าอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนมากที่สุด คือ หมวดอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ขณะที่อุตสาหกรรมที่ไม่น่าลงทุนมากที่สุด คือ หมวดทรัพยากร ด้านปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ได้แก่ สถานการณ์ต่างประเทศเป็นปัจจัยหลัก รองลงมาคือ เศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายด้านเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่นักลงทุนมองว่ายังมีผลต่อตลาด คือ ราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาก นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากธนาคารกลางยุโรป การเพิ่มเม็ดเงินข้าสู่ระบบของญี่ปุ่น ภาวะหนี้สินภาคครัวเรือน สภาพคล่องในประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าอัตราการขยายตัวจะอยู่ที่ร้อยละ 3.0-3.5 โดยมีการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก และยอมรับว่า มีความกังวลเรื่องการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ล่าช้า จึงคาดหวังให้รัฐบาลเร่งการลงทุนระบบขนส่งทางราง และระบบบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2558 ขณะที่เครื่องยนต์ตัวอื่น เช่น การบริโภค การส่งออก และการท่องเที่ยว รวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชนยังอยู่ในภาวะฟื้นตัวช้า