รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซ้อมแผนอพยพผู้โดยสาร ครั้งที 2 ประจำปี 2559 กรณีรถขัดข้องในเส้นทางหลัก ล้อมคอก สร้างความมั่นใจคนใช้บริการ เผยวิธีแก้ปัญหา 3 วิธี ทั้งใช้รถขบวนอื่นลาก - จอดเทียบใช้สะพานถ่ายโอนผู้โดยสาร - อพยพลงรางเดินเท้าไปสถานีใกล้เคียง ชี้วันเกิดเหตุเจ้าปัญหา ส่งรถไปเตรียมลากแล้ว แต่ผู้โดยสารส่วนมากเปิดประตูลงมาที่ราง เลยต้องปรับแผนให้เดินเท้าแทน
เมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 29 มี.ค. ที่สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ หัวหมาก แขวงและเขตสวนหลวง กทม. พล.อ.ดรัณ ยุทธวงษ์สุข กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด พร้อม เจ้าหน้าที่สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ หัวหมาก ร่วมกันจัดฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมในการอพยพผู้โดยสารจากขบวนรถไฟฟ้าที่เสียในเส้นทางหลัก ครั้งที่ 2 ประจำปี 2559 โดยมี นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบบราง จากสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง ม.นเรศวร เข้าร่วมสังเกตการณ์
พล.อ.ดรัณ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา เกิดเหตุระบบไฟฟ้าขัดข้องบนขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ขบวนสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าสถานีพญาไท บริเวณช่วงระหว่างสถานีแอร์พอร์ตลิ้งก์ หัวหมาก กับ สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ รามคำแหง ทำให้มีผู้โดยสารบาดเจ็บจากการขาดอากาศหายใจจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสารในการใช้บริการ ทางบริษัทจึงจัดให้มีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2559 (ครั้งแรก ฝึกซ้อมไปเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 59) เพื่อเตรียมความพร้อมในการอพยพผู้โดยสารจากขบวนรถไฟฟ้าที่เสียในเส้นทางหลัก ที่สถานีหัวหมาก โดยจำลองเหตุการณ์รถไฟฟ้าขัดข้องออกเป็น 3 เหตุการณ์ ประกอบด้วย 1. การฝึกซ้อมการอพยพผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าไปยังสถานี (Train To Station) 2. การฝึกซ้อมการอพยพผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าไปสู่รถไฟฟ้า (Train To Train ) 3. การฝึกซ้อมอพยพผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าไปสู่ราง (Train To Track) ซึ่งทั้งสามวิธีจะทำการฝึกซ้อมบริเวณช่วงระหว่างสถานีหัวหมาก และสถานีรามคำแหง โดยมีหน่วยแพทย์กู้ชีพจากศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินเอราวัณ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจรถไฟสุวรรณภูมิ สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก และสถานีตำรวจนครบาลประเวศ เข้าร่วมฝึกซ้อมในครั้งนี้ ถือเป็นการวางแนวทางปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขั้นตอนการซ้อมแผนในวันนี้ เริ่มจากวิธีแรก คือ อพยพผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าไปยังสถานี ใช้ในกรณีที่รถไฟฟ้าเกิดระบบไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถวิ่งไปยังจุดหมายได้ ทางเจ้าหน้าที่แอร์พอร์ตลิงก์ จึงตัดสินใจนำรถไฟฟ้าขบวนที่ไม่มีผู้โดยสาร (รถเปล่า) มาดำเนินการต่อขบวน เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับขบวนรถที่ขัดข้อง ก่อนจะขับลากไปยังสถานีที่อยู่ใกล้เคียงมากที่สุด ส่วนวิธีที่ 2 อพยพผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าไปสู่รถไฟฟ้า ใช้ในกรณีที่รถไฟฟ้าเกิดขัดข้อง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เจ้าหน้าที่ได้แก้ปัญหาโดยการนำรถไฟฟ้าอีกขบวนหนึ่ง มาจอดเทียบด้านข้างขบวนที่ชำรุด จากนั้น จึงเปิดประตูด้านที่อยู่ใกล้กับห้องผู้ควบคุมรถไฟฟ้าที่ชำรุด 1 ประตู แล้วให้เจ้าหน้าที่อีกขบวนนำสะพานเหล็กมาพาดไว้ ก่อนให้ผู้โดยสารทยอยกันเดินข้าม เพื่อไปส่งยังสถานีใกล้เคียง โดย 2 วิธีแรกใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาที สำหรับวิธีที่ 3 การอพยพผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าไปสู่รางนั้น จะไม่ถูกใช้ถ้าไม่จำเป็น เช่น กรณีไม่มีรถไฟฟ้าที่จะให้ใช้วิธีที่ 1 - 2 บางครั้งก็ใช้ในสถานการณ์ที่รถไฟฟ้าจอดเสียในระยะห่างจากสถานีไม่มาก โดยวิธีนี้ เจ้าหน้าที่จะเปิดประตู 1 - 2 บาน แล้วใช้บันไดที่เก็บไว้ในรถไฟฟ้า (มีทุกขบวน)พาดกับพื้น) เพื่อให้ผู้โดยสารทยอยกันปีนออกมาที่บริเวณราง จากนั้น เจ้าหน้าที่ประจำสถานีที่อยู่ใกล้สุดจะเดินเท้าออกไปรับผู้โดยสารดังกล่าว เพื่อนำทางไปยังสถานี ซึ่งระยะเวลาของวิธีนี้ขึ้นอยู่กับระยะทางรถไฟฟ้าที่เสียกับสถานีที่อยู่ใกล้สุด ทั้งนี้ จากเหตุการณ์รถไฟฟ้าขัดข้องวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่แอร์พอร์ตลิงก์ ชี้แจงว่า ขณะเกิดเหตุได้ใช้วิธีนำรถไฟฟ้าไปลากขบวนรถที่ขัดข้อง ตามแผนอพยพที่ 1 แต่ผู้โดยสารจำนวนมากเปิดประตูและลงมาที่รางแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปรับไปใช้วิธีที่ 3 คือ อพยพคนจากรถลงมาที่ราง แล้วพาเดินเท้าไปสถานีใกล้เคียง