xs
xsm
sm
md
lg

GPSC เลื่อนเข้าตลาดหุ้นเป็น Q2/58 ปรับแผนธุรกิจใหม่หลังดีมานด์ไฟวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

GPSC เลื่อนเข้าตลาดหุ้นเป็น Q2/58 หลังจากตลาดหุ้นผันผวน พร้อมปรับแผนธุรกิจหันไปรุกทำโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หลังความต้องการใช้ไฟฟ้าในไทยหด มั่นใจเพิ่มกำลังการผลิตไฟได้อย่างน้อยปีละ 200 เมกะวัตต์ ยันปีนี้ฟันกำไร 2 พันล้านบาท

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ซึ่งดำเนินธุรกิจไฟฟ้าในเครือ ปตท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ GPSC อยู่ระหว่างตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในไตรมาส 2 /2558 เลื่อนจากเดิมที่กำหนดไว้ในไตรมาส 1/2558 คาดว่าจะระดมทุนจากการขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท นับเป็นบริษัทแรกในกลุ่ม ปตท.ที่เข้าตลาดหุ้นในปีนี้

ปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1.8 -2 พันเมกะวัตต์ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 6 พันเมกะวัตต์ในอนาคต แต่เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในไทยลดลงเมื่อปีที่แล้ว และการปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ใหม่ ทำให้บริษัทต้องปรับปรุงเป้าหมาย โดยหันมาขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว และพม่า เพื่อจำหน่ายไฟเข้าไทย เช่น โครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี สปป.ลาว ที่ GPSC ถือหุ้น 25% รวมทั้งรุกธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งไบโอแมส และโรงไฟฟ้าขยะ เป็นต้น

ทั้งนี้ GPSC อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP 2 โครงการในไทย และร่วมทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ สปป.ลาว เช่น โรงไฟฟ้าไซยะบุรี กำลังผลิต 1,280 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าน้ำลิก กำลังผลิต 65 เมกะวัตต์ เป็นต้น ทำให้บริษัทฯมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 200 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 4-5 ปีข้างหน้า

“บริษัทฯ ยังสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่พม่า เช่น โครงการโรงไฟฟ้ามะริด ขนาดกำลังผลิต 1.8 พันเมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ หลังจากนั้นคงต้องรอว่าพม่าจะเลือกเอกชนรายใดเป็นผู้ทำโครงการนี้”

นายสุรงค์ กล่าวต่อไปว่า GPSC มีความได้เปรียบบริษัทผลิตไฟฟ้าอื่นตรงที่ ปตท.ซึ่งเป็นบริษัทแม่มีธุรกิจเหมืองถ่านหินอยู่ในอินโดนีเซีย มียอดขายถ่านหินเฉลี่ย 10 ล้านตัน/ปี เนื่องจากราคาถ่านหินปรับตัวลดลงเหลือ 60 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้บริษัทไม่เร่งผลิตถ่านหินเพิ่ม แต่จะหันมาซื้อถ่านหินเพื่อมาผสมกับถ่านหินของ ปตท.ที่ผลิตเพื่อจำหน่าย คาดราคาถ่านหินเฉลี่ยปีนี้อยู่ 60 เหรียญสหรัฐ/ตัน ต่ำกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 65-70 เหรียญสหรัฐ/ตัน ผลการดำเนินงานของ GPSC ในปีนี้คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 2 พันล้านบาท ทรงตัวใกล้เคียงปี 2557 เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาเพิ่มในช่วงปลายปี 2558

ปัจจุบัน GPSC มีสินทรัพย์รวม 4 หมื่นล้านบาท ถือหุ้นโดย บมจ.ปตท. สัดส่วน 30.10% บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) สัดส่วน 30.31% บมจ.ไทยออยล์ (TOP) สัดส่วน 11.8% และ บริษัท ไทยออยล์ พาวเวอร์ ถือ 27.71%

ในปี 2558 ปตท.ยังเตรียมขายหุ้น บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP)ที่ถืออยู่ 27.2% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะกรรมการ BCP คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือน ม.ค.นี้ และจะขายหุ้นโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟนิ่ง (SPRC) ในครึ่งปีหลัง 2558 เนื่องจากแนวโน้มธุรกิจการกลั่นไม่ค่อยดี สืบเนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงทำให้โรงกลั่นขาดทุนสต๊อกน้ำมันจำนวนมาก

นอกจากนี้ ปตท.ยังดำเนินการแยกธุรกิจท่อก๊าซฯ ออกมาเป็นบริษัท เพื่อเปิดให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาใช้ท่อก๊าซฯ ได้ตามนโยบายของรัฐ แต่เนื่องจากยังมีข้อพิพาทเรื่องการโอนสินทรัพย์ท่อก๊าซฯ ทำให้ต้องรอการชี้ขาดจากกฤษฎีกาก่อนที่จะดำเนินการจัดตั้งเป็นบริษัทได้ในอีก 9 เดือนถัดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น