xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีหุ้นไทยดิ่งรับน้ำมันอ่อนตัว นักวิเคราะห์ชี้แนวรับที่ 1,460 จุด ทำหน้าที่ได้อย่างแข็งแกร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ฉุดดัชนีหุ้นทั่วโลกร่วงระนาว ด้านปัจจัยลบในประเทศแรงขาย LTF ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดหุ้นไทยร่วงหนักกว่า 24 จุด ก่อนจะมีแรงซื้อหนุนให้เด้งกลับมาปิดที่ 1,477.58 จุด ลดลงแค่ 5.67 จุด นักวิเคราะห์ระบุแนวรับที่ 1,460 จุด ทำหน้าที่ได้อย่างแข็งแกร่ง นักวิเคราะห์แนะนำทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี

สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะล่าสุด ราคาน้ำมันดิบตลาดไนเม็กซ์ สหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 2.65 ดอลลาร์ หรือลดลง 5.03% ปิดที่ 50.04 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากความกังวลน้ำมันล้นตลาด และค่าเงินสหรัฐที่แข็งค่าขึ้นกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อคืนที่ผ่านมา ปิดแดนลบแรงยกกระดาน ดาวโจนส์ ลดลง 331.34 จุด หรือ -1.86 เปอร์เซ็นต์ ปิดที่17,501.65 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 37.62 จุด หรือ -1.83 เปอร์เซ็นต์ ปิดที่ 2,020.58 จุด แนสแดค ลดลง 74.24 จุด หรือ-1.57 เปอร์เซ็นต์ ปิดที่ 4,652.57 จุด

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วานนี้ (6 ม.ค.) ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยปิดตลาดที่ 1,477.58 จุด ลดลง 5.67 จุด เปลี่ยนแปลง 0.38% โดยระหว่างวันแตะจุดสูงสุดที่ 1,478.35 จุด ต่ำสุดที่ 1,459.22 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 47,746.72 ล้านบาท

โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 1,398.34 ล้านบาท บริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 578.55 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 3,965.19 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อย ซื้อสุทธิ 4,784.98 ล้านบาท

น.ส.มยุรี โชวิกรานต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรพัย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุราคาน้ำมันดิบโลกยังคงตกต่ำต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยลดลง 52.4% เหลือ 52.35 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี หรือใกล้เคียงกับช่วง พ.ศ.2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯ และหนี้สาธารณะในยุโรป กดดันให้เกิดแรงขายในทุกตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตาม แนวรับที่ 1,460 จุด สามารถตานท้านแรงขายได้อย่างแข็งแกร่ง ทำให้เห็น Technical Rebound เป็นบางช่วง กลยุทธ์การลงทุนในช่วงสั้นนี้เน้นลักษณะเทรดดิ้ง แบบขึ้นแรงขาย ลงแรงซื้อ เน้นหุ้นที่ผลการดำเนินงานใน 4Q57 เติบโตเด่น หรือเป็นหุ้นปันผลเด่นในงวดจ่ายนี้

พร้อมกันนี้ ได้เปิดเผยผลการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวดัชนีไตรมาสแรกปี 2558 ว่า ตลาดหุ้นจะมีความผันผวนสูงมาก เนื่องจากเป็นปีที่มีทั้งปัจจัยบวกและลบผสมกัน ในขณะที่ราคาหุ้นในปัจจุบันถือว่าได้สะท้อนผลการดำเนินงานปี 2558 ไปบ้างแล้ว ดังนั้น หากการเติบโตของผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามคาดก็จะทำให้ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับตัวลดลง โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่

1) การคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นตลอดทั้งปี โดยเราคาดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นจริงในช่วง 2H58 2) การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐส่งผลลบต่อตลาดหุ้นเกิดใหม่ 3) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรป ญี่ปุ่น และจีน คาดว่าจะส่งผลดีเพียงระยะสั้น 4) การเพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนในหุ้นของกองทุนบำเหน็จบำนาญญี่ปุ่น (GPIF) ถือว่าเป็นบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลก 5) ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของรัสเซีย การอ่อนค่าของเงินรูเบิล กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัสเซีย มีโอกาสกระทบต่อตลาดการเงินโลก 6) การเมืองไทย ซึ่งต้องติดตามการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งมีผลกระทบต่ออนาคตการเมืองไทย 7) การลดลงของราคาน้ำมันดิบจะส่งผลดีต่อการปฏิรูปพลังงาน และช่วยลดต้นทุนภาคธุรกิจ เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้บริโภค 8) การปฏิรูปภาษี โดยเฉพาะภาษี VAT หากขึ้นจะกระทบต่อตลาดหุ้น

“ไตรมาสที่ 1/58 อาจเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี เราคาดว่า SET Index มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ 1,640 จุด ได้ในไตรมาสที่ 1/58 เพราะเป็นช่วงที่ปัจจัยเสี่ยงน้อยที่สุดของปี เนื่องจากเราประเมินว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และรัฐบาลจีน มีโอกาสออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเพื่อต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยไม่ต้องกังวลต่อความเสี่ยงในเรื่องเงินเฟ้อ เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำมันดิบจะยังคงทรงตัวในระดับต่ำ รวมถึงคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสนี้” น.ส.มยุรี กล่าว

ส่วนปัจจัยในประเทศ คาดว่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามลำดับ รวมถึง ความคืบหน้าของโครงการลงทุนของรัฐบาลในด้านต่างๆ โดยเฉพาะความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital economy) เนื่องจากประเมินว่า กฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องต่อธุรกิจไอซีทีจะได้รับการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ภายในไตรมาสที่ 1/58 นี้ ส่วนแรงขายจากกองทุน LTF คาดว่าจะไม่มากเท่ากับต้นปี 2557

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง แนะนำกลยุทธ์ไตรมาสที่ 1/58 เน้นลงทุนหุ้นกลุ่มสื่อสาร เพราะปลอดภัยจากความผันผวน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานักลงทุนมักให้ความสำคัญต่อเรื่องประเด็นการลงทุนเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure play) ส่งผลให้ราคาหุ้นรับเหมาก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น