xs
xsm
sm
md
lg

ฐานราคาทองคำราคาตกเพราะโดนสหรัฐฯ กด ... บล.โกลเบล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช  ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก
เป็นที่สงสัยว่าทุนสำรองทองคำของแต่ละประเทศที่ข้อมูลถูกเปิดเผยในรายงานของ World Gold Council เมื่อสิ้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมานั้น ตรงต่อความเป็นจริงมากน้อยเท่าไหร่ เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2012 ที่เยอรมนีพยายามเรียกคืนทองคำของตัวเองคืนจากการเก็บทองคำไว้นอกประเทศเพื่อลดความเสี่ยงที่จะโดนรัสเซีย หรือสหภาพโซเวียตในสมัยสงครามเย็นเข้ามาบุก โดยปริมาณทองคำที่เยอรมนีที่เรียกคืนอยู่ร่วมๆ 674 ตัน ซึ่งล็อตแรกที่ได้คืนจากฝรั่งเศส และสหรัฐฯ อยู่ที่ 37 ตัน ใน 37 ตันนั้นเป็นทองคำที่สหรัฐฯ คืนมาเพียง 5 ตันเท่านั้น โดยทางสหรัฐฯ บอกว่าสหรัฐฯ จะคืนทองคำตามที่เยอรมนีต้องการทั้งหมดได้แต่ต้องใช้ระยะเวลาถึง 8 ปี ซึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องการขนส่งที่ต้องทยอย หรืออาจเป็นเพราะไม่มีทองคำจำนวนมากไปคืนก็เป็นที่สงสัยกันอยู่ ซึ่งล็อตแรกที่เยอรมนีได้คืนจากฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ในปี 2013 นั้นคิดเป็นเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของทองคำทั้งหมดที่เรียกคืน เราต้องมารอดูกันว่าในปี 2014 เยอรมนีจะได้คืนมาอีกเท่าไหร่
หลังจากการเรียกทองคำไม่เกิน 6 เดือน ราคาทองคำโลกก็เริ่มปรับลงแรงจนทะลุต่ำกว่า $1,520 เหรียญในช่วงต้นปี 2013 ซึ่งราคาหลังจากนั้นมาแกว่งอยู่ระหว่าง $1,180-1,435 มาตลอดปี 2013 มาปี 2014 ราคามีการทำจุดต่ำสุดใหม่ และแกว่งอยู่ระหว่าง $1,130-1,395 เหรียญ ซึ่งรอดูว่าราคาต่ำลงมาขนาดนี้ เยอรมนีจะได้ทองคำคืนกลับไปเท่าไหร่

“ด้วยข้อมูลข้างต้น ทำให้เกิดข้อสงสัยในนักวิชาการบางท่านว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ราคาทองคำที่ผ่านมาถูกปั่นราคาขึ้นไปเพื่อให้สหรัฐฯ นำทองคำที่มีในมือขาย Short ออกไป (การ Short คือ การขายทองคำที่มีในมือออกไป เพื่อรอซื้อคืนในราคาที่ต่ำกว่า) ซึ่งตอนนั้นสหรัฐฯ มีการทำ QE มากมายสนับสนุนให้ราคาทองคำปรับขึ้นได้ ประกอบกับบทวิเคราะห์ของสถาบันการเงินรายใหญ่บางแห่งในสหรัฐฯ ก็ออกบทวิเคราะห์เชียร์ราคาทองคำว่าจะไปถึงระดับ $2,000 ขึ้นไป ก่อนที่จะมาปรับมุมมองคาดการณ์ราคาทองคำลดลงเรื่อยๆ ต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธันวาคม 2012 เป็นต้นมา และราคาทองคำก็เริ่มหลุดต่ำกว่าราคา $1,520 ในต้นปี 2013 และ 1,180 เหรียญ ในปลายปี 2014 มาเรื่อยๆ ซึ่งหากไปดูจำนวนทองคำที่กองทุน ETF ถือมากที่สุดนั้นเป็นช่วงที่ราคาผ่านจุดสูงสุดที่ $1,920 เหรียญ (เดือนกันยายนปี 2011 กองทุน SPDR ถือทองคำช่วงนั้นราว 1,240 ตัน) ไปแล้วสักระยะหนึ่ง กองทุน SPDR มาถือทองคำสูงสุดประมาณ 1,350 ตัน ในช่วงธันวาคมปี 2012 ซึ่งสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ยังมองทองคำเป็นขาขึ้น หรือจะ Rally กลับไป $2,000 เหรียญ หลังจากนั้น ข่าวเยอรมนีเรียกทองคำคืนออกมาช่วงนั้น บทวิเคราะห์คาดราคาทองคำลงก็เริ่มออกมาแทน และมีการปรับมุมมองลงต่อเนื่องทั้งๆ ที่ QE3 และ QE unlimited ยังไม่ประกาศใช้เลยด้วยซ้ำ และกองทุน SPDR ก็ขายออกมาต่อเนื่องหลังจากนั้นเป็นต้นมา แม้จะมี QE3 และ QE Unlimited ในช่วงปลายปี 2013 ก็ไม่ได้ช่วยให้การซื้อทองคำ SPDR กลับมาอีกแล้ว”
จึงเกิดคำถามว่า สหรัฐฯ ไม่มีทองคำคืนเยอรมนีหรือเปล่า จึงต้องกดราคาทองคำออกมาเพื่อจะซื้อทองคำมาคืนให้ได้ภายใน 8 ปีที่แจ้งไว้ต่อทางเยอรมนี แต่มาถึงปัจจุบัน ราคาทองคำอาจจะไม่ปรับลงอย่างที่สหรัฐฯ ต้องการก็ได้หลังไตรมาส 2-3 ปี 2014 ที่ผ่านมา ประเทศอย่างรัสเซียเริ่มที่จะหันมาซื้อทองคำแทนการถือดอลลาร์สหรัฐอย่างมีนัย แล้วรัสเซียก็เริ่มหันไปจับมือกับจีนในการค้าพลังงานด้วยสกุลเงินหยวน และรูเบิล ซึ่งตัดดอลลาร์สหรัฐออกไปเลย เช่นเดียวกับจีนประเทศผู้นำเข้าทองคำรายใหญ่ที่สุดในโลกแซงอินเดีย ก็เริ่มเดินหน้าจับมือกับประเทศกว่า 20 ประเทศไปเรียบร้อยแล้วในการมองข้ามสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายสินค้า และบริการ แม้จากตัวเลขที่ WGC ประกาศว่า ธนาคารกลางจีนมีทองคำในทุนสำรองเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของทุนสำรองทั้งหมด หรือคิดเป็นปริมาณทองคำประมาณ 1,054 ตัน (ต้นเลขเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา) แต่หลายคนก็เชื่อว่าจริงๆ แล้วจีนน่าจะมีการสะสมทองคำมาตลอด และน่าจะมีมากกว่าที่ในรายงานประกาศไว้หลายเท่าตัว เนื่องจากทั้งจีน และรัสเซียน่าจะเริ่มมีความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ปั๊มเงินกันทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ปั๊มจนตัวเลขปริมาณเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นหลายเท่าในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ลดความมั่นใจในเสถียรภาพของดอลลาร์ขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากนี้มาจับตาดูกันว่าสงครามค่าเงินที่เกิดจากการปั๊มเงินจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด ประเทศอย่างรัสเซีย จีน ที่สะสมซื้อทองคำเพิ่มขึ้นจะอ่านเกมถูกหรือไม่ว่าสุดท้ายอาจจะเกิดปัญหาในระบบเงินตราอย่าง Fiat Currency แล้วทองคำจะกลับมาน่าเชื่อถือเสมือนสกุลเงินหลักอีกครั้งหนึ่ง

สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช
ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก
กำลังโหลดความคิดเห็น