xs
xsm
sm
md
lg

ทองคำน่าสนใจหรือยัง??...บล.โกลเบล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช  ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก
หากเรายังมั่นใจว่าระบบ Fiat Currency หรือเงินกระดาษที่เราใช้อยู่ปัจจุบันมีเสถียรภาพที่มั่นคง เชื่อถือได้ไปอีกยาวนาน ประกอบกับหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงเติบโตได้ดี ทองคำถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ดูจะไม่น่าสนใจ เพราะนักลงทุนจะนำเงินไปไว้กับสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น ตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ในภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต การถือทองคำถือเป็นการลงทุนที่ไม่สู้ดีนัก เพราะทองคำจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนปันผลเหมือนหุ้น ไม่มีดอกเบี้ยให้เหมือนเงินฝาก หรือไม่สามารถปล่อยให้คนอื่นเช่าได้เหมือนอสังหาริมทรัพย์

แต่ถ้าเรามองว่าระบบเงินกระดาษมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาในอนาคต เศรษฐกิจโลกมีโอกาสทรุดตัวลงในอนาคต ทองคำจะกลับมาเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนทันที

ทองคำถูกพูดถึงมากขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มออกมาตรการอัดฉีด หรือ QE เมื่อปี พ.ศ.2551 การพิมพ์เงินดอลลาร์เข้ามาในระบบ ทำให้หลายคนกังวลว่า ดอลลาร์สหรัฐจะด้อยค่าในระยะยาว ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ดอลลาร์กลับไม่ได้อ่อนค่าเมื่อเทียบกับตะกร้าเงินอีก 6 สกุลเงินหลักอื่นๆ อย่างที่หลายคนคิด ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า ธนาคารกลางสำคัญๆ อื่นๆ ก็มีการอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางจีน ธนาคารกลางอังกฤษ

ณ ปัจจุบัน ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มที่จะมีสัญญาณที่ดีต่อเนื่องจนสามารถทำให้เฟดยุติการปั๊มเงินเข้าระบบไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า แต่ประเทศอื่นๆ อย่างยุโรป และญี่ปุ่นดูเหมือนว่าจะยังต้องเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปจึงตัดสินใจอัดฉีดเพิ่มเติม จึงทำให้ดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าในระยะสั้นอยู่ ยิ่งหากเฟดมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดอลลาร์สหรัฐก็ควรจะแข็งค่าขึ้นต่อ กดดันราคาทองคำต่อไป แต่สหรัฐฯ เองก็อาจจะไม่กล้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็ง และส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจอาจไม่ดีอย่างที่ผ่านมา จึงเป็นไปได้ว่าราคาทองคำโลกอาจจะปรับลงจากนี้ต่อแต่เป็นการค่อยๆ ปรับซึมลงมากกว่า

ถ้าหากเราดูอุปสงค์ หรือความต้องการทองคำไตรมาส 3/2557 (ตามรูปภาพ Gold demand by category and the gold price จาก World Gold Council) จะเห็นว่า ความต้องการทองคำจากภาคการลงทุนลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 2 เปอร์เซ็นต์ ที่หดหายไปอย่างมีนัยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนภาคเครื่องประดับแม้จะเติบโตขึ้นมากกว่าไตรมาส 2 (ความต้องการทองคำของอินเดียก็โตขึ้นต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน) แต่ก็ไม่สามารถชดเชยส่วนที่หายไปของภาคการลงทุน ความต้องการจากฟากฝั่งธนาคารกลางที่ซื้อทองคำก็เริ่มชะลอลงบ้าง แต่ยังมีการสะสมทองคำมาเป็นทุนสำรอง โดยเฉพาะรัสเซีย ที่ในไตรมาสที่ 3 มีการซื้อทองคำราว 55 ตัน รองมาคือ คาซัคสถาน 29 ตัน แต่โดยรวมของธนาคารกลางทั้งหมดถือว่าลดลงเล็กน้อยเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาทองคำย่อลงมาในไตรมาสที่ 3 ก่อนที่จะลงแรงหลังธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศอัดฉีดในต้นไตรมาส 4 จนทำให้ราคาทองคำทำจุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 4 ปี

หากทองคำราคาจะกลับมาพุ่งได้แรง คงจะพึ่งภาคเครื่องประดับอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรอแรงซื้อจากฝากการลงทุนเป็นหลัก หรือ ETFs นั่นเอง ปัจจัยที่พอจะทำให้ความต้องการภาคการลงทุนกลับมาต้องรอให้เกิดการโยกย้ายเงินทุนจากสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้น รวมถึงตลาดต้องมีความต้องการถือสกุลเงินดอลลาร์น้อยลง หรือต้องรอให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มกลับมาแย่ลงอีกครั้ง ถ้าจะเกิดขึ้นได้นั้นคงต้องรอหลังเฟดเริ่มประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นจริงๆ ว่าจะเกิดการช็อกของตลาดหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยธนาคารกลางให้ติดตามเพิ่ม โดยเฉพาะการโหวตมติของทางสวิสฯ ว่า จะมีมติให้ธนาคารกลางสวิส ต้องเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรองเป็น 20 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ (ปัจจุบันธนาคารกลางสวิสฯ มีทองคำเป็นสัดส่วนราว 7.5 เปอร์เซ็นต์ของทุนสำรองทั้งหมด คิดเป็นทองคำ 1,040 ตัน ซึ่งหากโหวตผ่านจริงในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ธนาคารกลางสวิสฯ ต้องทยอยสะสมทองคำให้ครบ 20 เปอร์เซ็นต์ภายใน 5 ปี หรือภายในปี พ.ศ.2562 นอกจากซื้อทองคำอย่างเดียว การจะทำให้สัดส่วนทองคำในทุนสำรองกลายเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ได้ก็คือ การลดขนาดของทุนสำรองด้วยการขายสกุลเงินอื่นๆ ที่อยู่ในทุนสำรองออกมา ซึ่งข่าวนี้คงจะทำให้ตลาดคึกคักในระยะสั้นได้อีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้

นอกจากนี้ คงต้องติดตามความพยายามที่จะดันสกุลเงินหยวนให้มีความสำคัญในตลาดโลกมากขึ้นของจีน โดยที่ผ่านมา ถือว่าจีนเดินหน้าจับมือหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม BRICs ได้ดีในการผลักดันให้ใช้หยวนเป็นสกุลเงินในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าในหลายๆ ประเทศ ตัวนี้ก็จะทำให้บทบาทของดอลลาร์สหรัฐลดลงเช่นกัน ประกอบกับหากธนาคารกลางสวิสฯ โหวตมติดังกล่าวผ่าน ก็จะทำให้หลายๆ ธนาคารกลางอาจจะต้องเริ่มหันมามองเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรองมากขึ้นเช่นกัน

แม้ระยะสั้นทองคำยังมีแนวโน้มที่จะปรับลงจนใกล้ระดับราคาต้นทุนหน้าเหมืองแถวๆ $1,050-1,150 แต่ในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่าเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีเหตุการณ์อีกมากมายที่น่าติดตามว่าจะช่วยผลักดันให้ราคาทองคำโลกกลับไปสู่ระดับ $1,400-1,500 เหรียญได้หรือไม่ สงครามอัดฉีดเงินคงจะไม่หยุดเพียงเท่านี้แน่นอน ธนาคารกลางเกาหลี ก็น่าจะเริ่มออกมาตรการบางอย่างเพื่อป้องกันการสูญเสียศักยภาพการส่งออกให้ญี่ปุ่น ทางฝั่งเยอรมนี จะยอมให้อีซีบีอัดฉีดได้มากขนาดไหนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย เหล่านี้ล้วนแต่น่าติดตามสำหรับคนที่สนใจทองคำ

สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช
ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก
กำลังโหลดความคิดเห็น