xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : เข้าใจอดีตเศรษฐกิจญี่ปุ่น: The Lost 2 Decades

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยปฐมินทร์ นาทีทอง
บลจ.บัวหลวง

ประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงยังมีระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบกฎหมายที่ดีเยี่ยม จนทำให้ญี่ปุ่นถูกจัดเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่มีการเติบโตเลยในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

เราจะมาดูกันว่าช่วง 20 ปีที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซา หรือที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อ "The Lost 2 Decades" นั้น เกิดอะไรขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และอะไรคือมาตรการที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจะดำเนินการเพื่อที่จะแก้ใขปัญหานี้ เพื่อที่จะพลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลับมาเป็นประเทศที่เติบโตอีกครั้ง

ช่วงปี 1980-1989 เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง นำโดยการเติบโตของธุรกิจผลิตและส่งออกรถยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว ธนาคารต่างๆ ในญี่ปุ่นจึงปล่อยกู้เพื่อการทำธุรกิจมากขึ้น มีการผ่อนคลายเงื่อนไขต่างๆ ในการปล่อยกู้ ส่งผลให้มีเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น ระดับราคาสินค้า รวมถึงสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดิน ราคาบ้าน และราคาหุ้นในตลาดหุ้นของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นมาก ท้ายที่สุดก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง และภาวะฟองสบู่ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้เล็งเห็นถึงอันตรายอันใหญ่หลวงของภาวะฟองสบู่ดังกล่าว จึงทำการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อชะลอภาวะฟองสบู่ดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็ไม่สามารถหลีกหนีฟองสบู่แตกได้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น  และราคาที่ดินปรับตัวลดลงอย่างมาก จากนั้นประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นี่คือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังจะตามมาในอีก 20 ปีข้างหน้า (1990-2010) หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ The Lost 2 Decades หรือ 2 ทศวรรษที่หายไปของญี่ปุ่น

คำถามคือ “อะไรคือสิ่งที่หายไป?” สิ่งที่หายไปคือการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วต่างๆ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับไม่เติบโตเท่าที่ควร โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวยาวนานคือ ราคาทรัพย์สินที่ลดลง หลังจากภาวะฟองสบู่แตก โดยเฉพาะมูลค่าอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงอย่างมาก ทำให้ความมั่งคั่งโดยรวมของประชากรญี่ปุ่นลดลง นอกจากนี้ยังมีปัจัยเสริม เช่น ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ทิ้งช่วงเวลานานมาก ก่อนที่จะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และยังมีเรื่องค่าเงินเยนที่แข็งค่าต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้การส่งออกญี่ปุ่นชะลอตัว

 โดยระหว่างปี 1995-2007 ที่ GDP ของญี่ปุ่นได้ลดลงอย่างมหาศาล จาก 5.33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เหลือ 4.36 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่ากับลดลง 18.20% ในขณะเดียวกันอัตราค่าแรงงานที่แท้จริง (Real Wage) ก็ลดลง 5% ซึ่งส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศลดลง และสุดท้ายทุกอย่างมาจบลงที่ภาวะเงินฝืดของญี่ปุ่น ที่เรื้อรังมาเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งภาวะเงินฝืดเกิดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประชากรมีรายได้ลดลง การจับจ่ายใช้สอยก็ลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ที่มียอดขายลดลง จำเป็นต้องไล่พนักงานออก และปรับราคาสินค้าลง (Sony และ Toyota ลดพนักงานประจำลงถึง 1 ใน 3 และหันมาจ้างพนักงงาน Part Time แทน) เมื่อประชากรเล็งเห็นว่าระดับราคาสินค้ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับตัวลงในอนาคต ประชากรญี่ปุ่นก็ยิ่งเลือกที่จะเก็บออมมากขึ้น และลดการจับจ่ายใช้สอย เพราะคิดว่าสิ่งของต่างๆ อาจมีราคาถูกลงไปอีกก็เป็นได้  ซึ่งการลดลงของการบริโภคเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่เติบโตเสียที นี่คือวงจรของภาวะเงินฝืดที่อยู่คู่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมานานนับ 20 ปี หรือที่เรียกว่า “The Downward Spiral of Deflation”

ปัจจุบันถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลญี่ปุ่น นำโดยนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ จะนำเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกจากวงจรเงินฝืดเรื้อรังที่ฝังตัวอยู่มากว่า 20 ปี และก้าวไปข้างหน้าเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ โดยธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อเงินเฟ้อ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตระยะยาวเป็นอย่างมาก ประกอบกับรัฐบาลของนายอาเบะได้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายด้านการเงิน และการคลัง โดยมีขั้นตอนหลักๆ 3 ขั้นตอน หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อ ธนู 3 ดอก  บางท่านอาจสงสัยว่า ทำไมต้องเป็นธนู 3 ดอก จริงๆ แล้วธนู 3 ดอกนี้มาจากสำนวนโบราณของญี่ปุ่น ที่กล่าวว่า “ธนูดอกเดียวอาจหักได้โดยง่ายดาย ต่างจากธนูที่ถูกผูกรวมกันเป็น 3 ดอก”

ธนูแต่ละดอกคือมาตรการอะไรบ้าง? ในบทความหน้าเราจะกลับมาอธิบายให้ทุกท่านหายสงสัย ว่าธนูแต่ละดอกคือนโยบายอะไร ดอกใดบ้างที่จะส่งผลกระทบระยะสั้น ดอกใดที่จะมุ่งเน้นสร้างเสถียรภาพในระยะยาว รวมถึงนโยบายธนูทั้ง 3 ดอก จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ออกจากภาวะเงินฝืดและเติบโตด้วยโครงสร้างที่มั่นคงได้อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น