กรมที่ดิน เร่งรัดการออกโฉนดที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน โดยจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการเดินสำรวจเพื่อแก้ปัญหาการออกหนังสือสิทธิในที่ดินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบริเวณพื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ บูโด-สุไหงปาดี ในปีงบประมาณ พ.ศ.2558-2561 หวังเพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนในระบบ เกิดแรงจูงใจจะพัฒนาที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิต
นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เร่งแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมที่สอดคล้องต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นพหุสังคม กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดิน ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าว และต้องการขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยสูง ทำให้การปฏิบัติงานมีความยากลำบากมากกว่าพื้นที่ปกติ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวมีความต่อเนื่องชัดเจน จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการโครงการเดินสำรวจเพื่อแก้ไขปัญหาการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส) และบริเวณพื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ บูโด-สุไหงปาดี ในปีงบประมาณ พ.ศ.2558-2561
อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเร่งรัดดำเนินการออกโฉนดที่ดิน ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่มีหลักฐาน ส.ค.1 (ซึ่งยื่นคำขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไว้ก่อนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553), ใบจอง, น.ค.3, กสน.5 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3, น.ส.3ก., น.ส.3ข.) และที่ดินที่ไม่มีหลักฐานที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อให้ประชาชนได้รับการยอมรับในสิทธิการถือครอง และการใช้ประโยชน์ในที่ดิน รวมทั้งลดข้อพิพาทโต้แย้งสิทธิในที่ดิน และประชาชนยังสามารถนำโฉนดที่ดินใช้เป็นหลักประกันความมั่นคงในกรรมสิทธิ์ และการถือครองที่ดิน สามารถแปลงสินทรัพย์เป็นทุนในการประกอบอาชีพ และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ ที่ผ่านมา ในห้วงระยะเวลา 4 เดือน ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ กรมที่ดิน ได้จัดทำโครงการดังกล่าวเป็นโครงการเร่งด่วน สามารถออกโฉนดที่ดินได้ จำนวน 225 แปลง
สำหรับแผนปฏิบัติการปีงบประมาณ พ.ศ.2558-2561 กรมที่ดินได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน จำนวน 1 ศูนย์ 10 สายสำรวจเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเร่งรัดดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยกำหนดเป้าหมาย จำนวน 30,000 แปลง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส) และบริเวณพื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี
อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวทิ้งท้ายว่า หากประชาชนได้รับโฉนดที่ดินจากโครงการดังกล่าว จะเป็นการสร้างโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุนในระบบ เกิดแรงจูงใจที่จะพัฒนาที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และประชาชนในพื้นที่จะมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐเพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย