xs
xsm
sm
md
lg

แนะผนึก SME ไทย-จีน รุกอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร อัครราชทูตไทย (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
แนะผนึก “SME ไทย-จีนรุกอาเซียน” ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจะเข้าไปลงทุน ควรแสวงหาข้อมูลในหลายๆ ด้าน ด้วยการประสานงานข้อมูลทั้งจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม หรือแม้แต่สภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมของจีน (CHINA COUNCIL FOR THE PROMOTION OF INTERNATIONAL TRADE : CCPIT )เพื่อช่วยในการตรวจสอบพันธมิตรคู่ค้าที่ร่วมลงทุนว่ามีอยู่จริงหรือไม่



ดร.นายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร อัครราชทูตไทย (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนยืนยันว่า ปัจจุบันอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ภายในจีนเริ่มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยชะลอตัวลงเหลือเพียง 7.5% ต่อปี จากเดิมที่ตั้งเป้าการเติบโตเฉลี่ยที่ 10% ต่อปีในอดีต สาเหตุสำคัญมาจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจีนต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยหันมาพึ่งพาอุตสาหกรรม และเกษตรกรรมภายในประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกัน ประเทศจีนเองนั้นได้กำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศใหม่โดยเน้นการสร้างนวัตกรรม และผลักดันอุตสาหกรรมการบริการที่จะนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น อัครราชทูตไทย (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำกรุงปักกิ่ง วิเคราะห์แผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมระยะเวลา 5 ปี ฉบับที่ 12 ของจีนว่า หากสามารถดำเนินการได้เป็นผล มีแนวโน้มที่ภาคอุตสาหกรรมการบริการจะแซงหน้าภาคการผลิต และภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งในระยะอันใกล้พร้อมกล่าวเตือนว่า หากประเทศไทยไม่มีนโยบายรองรับการรุกคืบธุรกิจบริการของจีน จะกระทบการค้าการลงทุน และรายได้ที่จะเข้าประเทศไทยด้วยเช่นกัน

“ปัจจุบันประเทศจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ซึ่งภายในปี 2558 การค้าการลงทุนของทั้ง 2 ฝ่ายตั้งเป้าที่จะให้ได้อย่างน้อย 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยขณะนี้มูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันอยู่ที่ 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสัดส่วนการส่งออกสินค้าของไทยมายังประเทศจีนในปัจจุบันอยู่ที่ 12% และถ้าหากรวมฮ่องก งและไต้หวันด้วย จะมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 20% นอกจากนี้ ในจีนยังมีกำลังซื้อแฝงที่ไม่สามารถประเมินได้อยู่อีกจำนวนมาก”

ดร.ไพจิตร ระบุว่า นายกรัฐมนตรีไทย ควรใช้โอกาสการเข้าประชุม apec summit ซึ่งจะจัดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เจรจาข้อตกลงการพัฒนาผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อม หรือ SME ร่วมกัน โดยเน้นย้ำเกี่ยวกับกฎระเบียบการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้บรรยากาศการลงทุนเป็นไปอย่างผ่อนคลายมากขึ้น

ตลอดจนถึงโครงการร่วมทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาล เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือรถไฟทางคู่ นอกจากนี้ ประเด็นหลักที่นักลงทุน และผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ามาลงทุนร่วมกันกับประเทศจีนควรพิจารณาความสำคัญคือ โอกาสในการแสวงหาการลงทุนอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งหากพิจารณาจากประชากรอาเซียนกว่า 600 ล้านคน เทียบสัดส่วนประชากรจีนทั้งประเทศที่ 1,400 ล้านคน ซึ่งมีศักยภาพการขยายตัวของตลาด และกำลังซื้ออยู่มาก

“สิ่งที่ทางรัฐบาลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะริเริ่มทำเป็นอย่างแรกเพื่อสร้างฐานการลงทุนในระยะยาวคือ การสำรวจความต้องการของประชากรในประเทศจีนในท้องถิ่นภูมิภาคต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องวัฒนธรรม ศาสนา และประเพณี ตลอดจนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่”

ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจะเข้าไปลงทุน ควรแสวงหาข้อมูลในหลายๆ ด้าน ด้วยการประสานงานข้อมูลทั้งจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม หรือแม้แต่สภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมของจีน (CHINA COUNCIL FOR THE PROMOTION OF INTERNATIONAL TRADE : CCPIT) เพื่อช่วยในการตรวจสอบพันธมิตรคู่ค้าที่ร่วมลงทุน ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการฉ้อโกงจากระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกันซึ่งกลายเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนระหว่างกัน เนื่องจากกฎหมายจีนบางอย่างส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ทำให้โดนเอารัดเอาเปรียบ จึงจำเป็นที่หน่วยงานรัฐที่กำกับดูแล และรับผิดชอบได้เข้าไปดู แลและให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งแนะนำให้ความรู้ความเข้าใจในข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และมีความจำเป็นเพื่อป้องกันการฉ้อโกง และสร้างความเป็นธรรมในการค้าระหว่างกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น