xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ถก “ลี เซียนลุง” ลงทุนแปรรูปเกษตร-คมนาคม ชง “ฮุน เซน” ร่วมมือพลังงานทางทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หารือกับ นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์
นายกฯ และหัวหน้า คสช.หารือทวิภาคีนายกฯ สิงคโปร์ เห็นพ้องผลักดันกลไกระหว่างกัน พร้อมเข้าประชุมผู้นำที่แดนลอดช่องด้วย หวังเพื่อนร่วมอาเซียนมาลงทุนในไทย แปรรูปข้าว ยาง น้ำตาล ชงความร่วมมือโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ด้าน “ลี” ตอบรับเยือนสยาม ขณะที่ “ฮุน เซน” ขอคุยต่อ ยันไม่ให้ปมชายแดนเป็นอุปสรรคพัฒนาการค้า ลุยปักปันเขตแดน ร่วมมือพลังงานทางทะเล รับซื้อสินค้าเกษตรมาแปรรูป ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใกล้ปอยเปต



วานนี้ (16 ต.ค.) ที่นครมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้หารือทวิภาคีกับนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ระหว่างการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 10 ทั้งนี้ ไทย-สิงคโปร์เห็นพ้องที่จะเร่งผลักดันกลไกทวิภาคีระหว่างกัน โดยไทยพร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุม Leaders’ Retreat ที่สิงคโปร์ หลังจากที่ว่างเว้นไม่ได้ประชุมมานานกว่า 9 ปี นายกรัฐมนตรียินดีที่ทั้งสองประเทศกำลังจะฉลองครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 50 ปีในปีหน้า และหวังจะได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงระหว่างกันต่อไป

ส่วนในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สิงคโปร์เป็นประเทศที่ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ไทยจึงอยากเห็นภาคเอกชนของสิงคโปร์เข้ามาลงทุนโดยเฉพาะด้านการแปรรูปสินค้าโภคภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว ยางพารา และน้ำตาลมากขึ้น และนายกรัฐมนตรีไทยได้เสนอให้มีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยและสิงคโปร์ รวมทั้งเชิญชวนให้สิงคโปร์ร่วมลงทุนในด้านการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงภายในประเทศและอาเซียนด้วย โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้ตอบรับคำเชิญเดินทางมาเยือนประเทศไทยในโอกาสแรกที่อำนวย

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังได้หารือทวิภาคีกับสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอบคุณไมตรีจิตรวมทั้งการสนับสนุนที่ให้กับรัฐบาลไทยและการแสดงออกถึงมิตรภาพต่อกันในยามยาก โดยจะไม่ให้ปัญหาชายแดนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการการค้าการลงทุนระหว่างกัน ส่วนการปักปันเขตแดนจะดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการร่วมจัดทำหลักเขตแดนทางบก พร้อมเสนอให้มีความร่วมมือแหล่งพลังงานทางทะเลร่วมกัน และไทยจะรับซื้อสินค้าเกษตร เช่น ในพื้นที่ตาพระยา เพื่อนำมาแปรรูปเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศซึ่งฝ่ายกัมพูชาให้ความสนใจ นอกจากนี้ฝ่ายไทยจะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดนตรงข้ามปอยเปตของกัมพูชา พร้อมโรงงานเล็กเพื่อให้กัมพูชาข้ามเข้ามาทำงานได้สะดวกใกล้บ้าน กัมพูชาอาจพิจารณาจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกันในพื้นที่ติดกันด้วยได้ซึ่งไทยจะดูแลแรงงานกัมพูชาให้ดีที่สุด

ขณะที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเห็นพ้องกับไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทุกด้าน และยกทุกประเด็นในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีของไทย จะเดินทางไปเยือนกัมพูชา ในวันที่ 30-31 ตุลาคมนี้



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หารือกับ สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

กำลังโหลดความคิดเห็น