“ประยุทธ์” กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมอาเซม เสนอ 3 ยุทธศาสตร์หลักในการดำเนินการ ทั้งเพิ่มบทบาทความเป็นหุ้นส่วนกับเอเชีย สร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นหนึ่งเดียว บริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ขยายความตกลงการค้าเสรีระหว่างเอเชียและยุโรป ระบุประเทศในเอเชียและอาเซียนเป็นแหล่งผลิตอาหารและพลังงานที่สำคัญ ต้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติและเกษตกร ทั้งรายได้ ราคาสินค้าเกษตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 16 ต.ค.ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 5 ชั่วโมง ที่ Milan Congress นครมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 10 อย่างเป็นทางการ โดยกล่าวถ้อยแถลงระหว่างการประชุมเต็มคณะ ในหัวข้อ “การส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินและเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างยุโรป-เอเชีย” ว่า ไทยเป็นสถานที่จัดการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 1 และยังคงมีส่วนร่วมในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสองภูมิภาคตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จากสถานการณ์โลกที่มีความซับซ้อน จึงต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์ที่จะส่งเสริมความร่วมมือทั้งทางด้านการเงินและเศรษฐกิจ โดยพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-ยุโรปให้มากยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การขยายความเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-ยุโรป ต้องอาศัยภาวะความเป็นผู้นำทางการเมือง ยึดมั่นพันธกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งความรู้ความเชี่ยวชาญ ทั้งด้านทรัพยากรและการลงทุน โดยเสนอยุทธศาสตร์การดำเนินการ 3 ด้านหลัก คือ ประการแรก การเพิ่มบทบาทความเป็นหุ้นส่วนกับเอเชีย สร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นหนึ่งเดียว มีการร่วมระดมทุน การร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค เอเชีย การถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์และเทคโนโลยี ซึ่งไทยเองก็มีโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาการขนส่งสินค้า บริการและแรงงาน เพื่อเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ รองรับประชาคมอาเซียนและความร่วมมือเอเชีย-ยุโรปในอนาคต พร้อมพัฒนายุทธศาสตร์เส้นทางการค้าใหม่ๆ
ประการที่ 2 การบริหารจัดการความเสี่ยง ที่อาจเกิดจากความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค โดยมีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคง เพื่อการพัฒนาและความร่วมมือที่ยั่งยืน และประการที่ 3 การขยายความตกลงการค้าเสรีระหว่างเอเชียและยุโรป เช่นเดียวกับการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก โดยให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจได้มีการหารือกัน
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำต่อที่ประชุมว่าให้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนอาหารและพลังงานในอนาคต จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความต้องที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศในเอเชียและอาเซียนเป็นแหล่งผลิตอาหารและพลังงานที่สำคัญ ดังนั้น ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ คือ เกษตรกร ต้องได้รับการดูแลทั้งรายได้ ราคาสินค้าเกษตร ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความมั่นคงในอาชีพ พร้อมทั้งส่งเสริมการวิจัยด้วย