“คลัง” เล็งปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หลังแบกภาระต้นทุนอื้อ เสนอเก็บ 15-20% จากกำไร 3 แสนบาท ถึง 3 ล้านบาท ขณะที่ 3 กรมภาษี เตรียมชงแผนปฏิบัติการ
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังระบุว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เสนอให้นายสมหมาย ภาษี รมว.การคลัง พิจารณาและเห็นชอบเรื่องการปฏิรูปภาษีให้เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีกำไรสุทธิ 1-3 ล้านบาทต่อปี ที่มีอยู่ประมาณ 3.2 หมื่นราย ให้ลดลงเหลือ 15% จากเดิมที่จัดเก็บ 20% เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นภาคธุรกิจส่วนใหญ่และสำคัญของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ธุรกิจดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นการทั่วไปลง 10% จาก 30% เมื่อปี 2554 เป็น 20% ในปี 2556 แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลับได้ลดเพียง 5% จากที่ต้องเสีย 25% เป็น 20% เท่านั้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการปรับลดอัตราภาษี โดยเบื้องต้นได้เสนอให้รัฐบาลปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แบ่งเป็นกำไรสุทธิ 0-3 แสนบาทแรก ได้รับการยกเว้น, กำไรสุทธิ 300,001 บาท-3 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 15% และกำไรสุทธิ 3 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 20%
นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.กรมศุลกากรทั้งฉบับ โดยจะเสนอให้นายสมหมายพิจารณาได้ภายในเดือนนี้ รวมถึงการพัฒนาระบบ National Single Window : NSW เพื่อให้สามารถรองรับการทำงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงาน และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 และการจัดทำด่านศุลกากรในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการแก้ปัญหาการทุจริตภายในกรม
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมได้เสนอแก้กฎหมายสรรพสามิต 7 ฉบับ เหลือ 1 ฉบับ ให้ รมว.การคลังพิจารณา เพื่อทำให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น และป้องกันการเก็บภาษีไม่ให้รั่วไหล ขณะที่กรมสรรพากรได้เสนอมาตรการและยุทธศาสตร์ที่กรมสรรพากรเตรียมดำเนินการ ทั้งการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายให้มีความครอบคลุมและเป็นสากลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งแผนพัฒนาการให้บริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพตามนโยบายของ รมว.การคลัง