xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อหุ้นไทยปรับฐานใกล้ถึงจุดต่ำสุด คาดทดสอบแนวรับที่ 1,540-1,537 จุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โบรกเกอร์ระบุดัชนีหุ้นไทยขาดปัจจัยหนุน เข้าสู่โหมด “ต้องระมัดระวัง” ระบุระยะสั้นความเสี่ยงเพียบ แนะลดพอร์ตถือเงินสด คาดดัชนีซึมรอสัญญาณ “เฟด” ว่าจะปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนดหรือไม่ ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐส่อแข็งค่า หลังปริมาณสถานะ Long position ของ Hedge fund ในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสถิติที่ผ่านมาจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่รวมถึงหุ้นไทย

ปิดตลาดหลักทรัพย์วันที่ 6 ตุลาคม 2557 ที่ 1,543.13 จุด ลดลง 27.15 จุด เปลี่ยนแปลง -1.73% มูลค่าการซื้อขาย 55,460.91 ล้านบาท ระหว่างวันแตะจุดสูงสุดที่ 1,574.52 จุด และต่ำสุดที่ 1,542.43 จุด โดยสถาบันในประเทศขายสุทธิ 3,013.10 ล้านบาท ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 386.12 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 184.15 ล้านบาทและนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 2,442.83 ล้านบาท

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ระบุ ตลาดหุ้นไทยยังคงมีปัจจัยกดดันจากมูลค่า (Valuation) ที่อยู่ในระดับสูงแล้ว ทำให้ภาวะการลงทุนช่วงนี้มีความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ดัชนีมีโอกาสเคลื่อนไหวลักษระแกว่งขึ้นสลับอ่อนตัวตลอด 2 สัปดาห์ รอผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FOMC วันที่ 28-29 ต.ค.นี้

“มองว่าการอ่อนตัวลงจะไม่ลึกมากอย่างมีนัยสำคัญ และน่าจะถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ระดับ 1,520-1,540 จุด เนื่องจากการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว ทำให้โอกาสที่จะขายหุ้นออกมาอีกในปริมาณสูงมีน้อย ขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ไม่ได้มีการปรับตัวขึ้นมาร้อนแรงเหมือนหุ้นขนาดเล็กและขนาดกลางในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับ มองว่าจะเริ่มมีเม็ดเงิน LTF/RMF ไหลเข้ามาในตลาดมากขึ้น หลังจากช่วง 8 เดือนแรกมีการไหลออกสุทธิของเม็ดเงิน LTF ประมาณ 2,600 ล้านบาท แต่คาดว่าในไตรมาส 4/57 จะมีการไหลเข้าของเม็ดเงิน LTF กว่า 20,000-25,000 ล้านบาท รวมถึงคาดว่ากองทุนทริกเกอร์ฟันด์เตรียมเปิดกองใหม่แถวบริเวณดัชนีระดับ 1,520-1,540 จุด” นายณัฐชาต กล่าว

พร้อมแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ในภาวะ “เพิ่มความระมัดระวัง” เนื่องจากระยะสั้นจะเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ล่าสุดปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 6% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 ทำให้ประเมินว่ามีโอกาสสูงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะค่อยๆ ปรับเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายเร็วกว่ากำหนด และจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะรุ่นอายุสั้น

“กลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้หาจังหวะลดพอร์ตช่วงที่ SET Index มีการรีบาวด์ โดยลดสัดส่วนลงทุนเหลือระดับประมาณ 30% หรือต่ำกว่า มองว่าจุดการเข้าสะสมหุ้นที่น่าสนใจอีกครั้ง ได้แก่ ช่วงระดับดัชนีบริเวณ 1,520-1,540 จุด หรือในช่วงหลังการประชุม FOMC ปลายเดือนนี้” นายณัฐชาต กล่าว

ขณะเดียวกันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสจะปรับตัวแข็งค่าต่อไปในระยะยาว (Secular trend) หลังปริมาณสถานะ Long position ของ Hedge fund ในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ณ ขณะนี้อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสถิติที่ผ่านมาจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่รวมถึง SET Index มีโอกาสปรับตัวลง 3.9% และ 2.2% ในช่วงเวลา 1 เดือนหลังจากนี้

“จากแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น บวกกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่า เชื่อว่าจะมีผลต่อการเร่งปิดสถานะการกู้เงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำไปลงทุนยังต่างประเทศ (USD carry trade) และโยกเงินกลับสู่สหรัฐฯ เร็วขึ้น ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลออกจากประเทศเกิดใหม่รวมถึงไทย ส่วนการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ต้องถือว่าน่าผิดหวังอย่างมาก หลังไม่มีความชัดเจนของมาตรการการเข้าซื้อตราสาร ABS และ Covered bond” นายณัฐชาต กล่าว

สอดคล้องกับนายธวัชชัย อัศวพรไชย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นักลงทุนเริ่มประเมินว่า ภาวะตลาดมีความเสี่ยงมากขึ้น และนักลงทุนประเมินว่าราคาหุ้นสะท้อนเกินพื้นฐานไปค่อนข้างมากทำให้เกิดแรงขายทำกำไรระยะสั้น แต่คาดว่าหากดัชนีทดสอบแนวรับที่ 1,540-1,537 จุด น่าจะเห็นแรงซื้อกลับเข้ามาอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น